เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
อยู่บนเส้นทางที่จะเข้าเขื่อนจุฬาภรณ์ ระหว่างกม.ที่
24-25 ทางด้านซ้ายมือ พื้นที่ครอบคลุม เขตป่าเขาของอำเภอคอนสาร เกษตรสมบูรณ์
และหนองบัวแดง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ กรมป่าไม้
เป็นศูนย์ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า การเพาะเลี้ยงและการขยายพันธุ์สัตว์ป่า
ประเภทสัตว์ปีกและสัตว์กีบ เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง เก้ง กวาง กระจง เป็นต้น
โดยจัดที่อยู่ให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด
และทำทางเดินให้ผู้ที่สนใจและรักธรรมชาติได้เข้าไปศึกษา ชีวิตสัตว์เหล่านั้นด้วย
การเข้าชมถ้าเป็นคณะใหญ่ๆ ต้องขออนุญาตจากหัวหน้าเขตที่หน้าประตู ทางเข้าก่อน
เพราะในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัว์ป่าต้องการความเงียบ ดังนั้น
จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องชีวิตสัตว์จริงๆ เข้าชม
ทุ่งกระมัง
เป็นที่ราบกว้างใหญ่ซึ่งประกอบด้วยทุ่งหญ้า ซึ่งเรียกว่า "หญ้าสะบัด"
กว้างขวางเขียวขจี ล้อมรอบด้วยภูเขาในเนื้อที่กว่า 1 ล้านไร่ อยู่ในเขตอำเภอคอนสาร
ภูเขียว และเกษตรสมบูรณ์ เป็นโครงการในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าและนำสัตว์ป่าคืนถิ่น เพราะในบริเวณนั้นมีสัตว์ประเภท
เก้ง กวาง กระจง และนกต่างๆ ชุกชุม ได้มีการนำเอา ดินโป่งใส่ไว้เป็นจุดๆ
ใกล้อ่างเก็บน้ำเพื่อให้สัตว์มากินดินโป่งนั้น
สำหรับทุ่งหญ้าเขียวขจีนั้นก็เป็นอาหารของเก้งและกวางในฤดูร้อน
บางครั้งมีไฟป่าพัดมาทำให้ต้นหญ้าถูกไฟป่าไหม้หมด แต่เมื่อถึงเวลาฝนตกลงมา
ต้นหญ้าก็จะแตกต้นอ่อนขึ้นมาเขียวอีกครั้งเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ต่อไปบนยอดเนินเหนือบริเวณทุ่งกะมัง
มีพระตำหนักที่ประทับอยู่เหนืออ่างน้ำ การเดินทางไปทุ่งกะมัง
ใช้เส้นทางเดียวกับเส้นทางที่จะไปเขื่อนจุฬาภรณ์ ก่อนถึงอำเภอคอนสารประมาณ 50 เมตร
มีทางราดยางแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 70 กม. ในฤดูฝนการเดินทางโดยทั่วไปไม่สะดวก
ถ้าจะเข้าไปชมควรใช้รถที่มีกำลังสูง เช่น โฟรวิล ไดร์ฟ (Four Wheels Drive)
เขื่อนจุฬาภรณ์
(เขื่อนน้ำพรม)
ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร ปิดกั้นลำน้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย
ซึ่งเรียกบริเวณนั้นว่าภูหยวก ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนกลางเป็นดินเหนียว
ตัวสันเขื่อนยาว 700 เมตร ความสูงจากฐานราก 70 เมตร
เป็นลักษณะเขื่อนเอนกประสงค์ใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า พลังน้ำเฉลี่ยปีละ
140 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน
ในภาคอีสานได้อย่างเพียงพอ นอกจากนั้นยังช่วยในด้านเกษตรกรรม
และในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดอีกด้วย
บริเวณเขื่อนมีทิวทัศน์ที่งดงามมาก อากาศเย็นสบายตลอดปี
จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ภายในบริเวณเขื่อน
มีบ้านพักไว้รับรองนักท่องเที่ยว เรือสำหรับให้ล่องชมอ่างเก็บน้ำ
ซึ่งเป็นเรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย มีจุดชมวิวทิวทัศน์เหนือเขื่อน
และศูนย์ทดลองพืชเมืองหนาว ซึ่งประกอบด้วยไม้ดอก
ไม้ผลที่หาชมได้ยากในภาคอีสานไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมอีกด้วย
รายละเอียดบ้านพักรับรอง สามารถรับรองแขกได้ประมาณ 98 คน ประกอบด้วยบ้านเดี่ยว
บ้านแถว ซึ่งราคาค่าที่พักต่อคนมีตั้งแต่คนละ 150-1,000 บาท
และบ้านเดี่ยวเปิดพักได้ 12 คนมี 2 หลังๆ ละ 2,000 บาทต่อคืน
ผู้สนใจสามารถจองที่พัก อาหาร การบรรยายสรุปและฉายสไลด์
พร้อมทั้งจองเรือเพื่อชมบริเวณอ่างเก็บน้ำได้ที่ ส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย จังหวัดนนทบุรี โทร. 424-4794, 436-3179
การเดินทาง
ไปเขื่อนจุฬาภรณ์ จากอำเภอเมืองชัยภูมิ ใช้เส้นทางสายชัยภูมิ-ชุมแพ
(ทางหลวงหมายเลข 201) ถึงทางแยกหนองสองห้อง เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2055
รวมระยะทางจากตัวเมืองชัยภูมิประมาณ 120 กม.
น้ำผุดนาเลา
เป็นลักษณะที่น้ำจากใต้ดินผุดขึ้นมาแล้วไหลเป็นลำธารไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกต่างๆ
น้ำใสไหลตลอดทั้งปี บริเวณที่น้ำผุดขึ้นมาเป็นแอ่งเล็กบ้างใหญ่บ้าง สวยงามแปลกตา
น้ำผุดนาเลาอยู่หลัง โรงเรียนคอนสารวิทยา
ห่างจากสี่แยกป้อมตำรวจไปทางอำเภอหล่มสักประมาณ 2 กม.
แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนลูกรังอีก 500 เมตร เลี้ยวซ้ายอีกครั้งหนึ่งไปอีกประมาณ 100
เมตรก็จะถึงบริเวณน้ำผุด มีต้นไม้ใหญ่ๆ และศาลาเก่าๆ สำหรับนั่งพักผ่อน
น้ำผุดทับลาว
อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านผาเบียด ห่างจากสี่แยกป้อมตำรวจประมาณ 11 กม.
โดยไปตามถนนที่จะไปสู่เขื่อนจุฬาภรณ์ประมาณ 8 กม.
แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังอีกประมาณ 3 กม.
น้ำผุดนาวงเดือน
อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านนาวงเดือน ห่างจากสี่แยกป้อมตำรวจไปตามถนนที่ไป
เขื่อนจุฬาภรณ์ แล้วแยกขวามือเข้าบ้านนาวงเดือนประมาณ 1 กม. เป็นน้ำผุดขนาดใหญ่
น้ำผุดหินลาดวนารมย์
หรือน้ำผุดหินลาด
อยู่ที่บ้านน้ำพุหินลาด ตำบลทุ่งพระ
ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศเหนือประมาณ 6 กม. มีธรรมชาติร่มรื่นเย็นสบาย
|