ประชาชนในจังหวัดชัยภูมิ ประมาณร้อยละ 95
เป็นคนท้องถิ่นเดิม มีวัฒนธรรมประเพณีซึ่งมีลักษณะ
ผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่นกับหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนา ประกอบ
กับประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของจังหวัด
มีลักษณะเด่นชัดที่เน้นและเชิดชูวีรกรรมความซื่อสัตย์ กตัญญูของเจ้าพ่อพระยาแล
ทำให้มีงานประจำ และงานประเพณี ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมของจังหวัด ดังต่อไปนี้
งานประจำปี
ฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพระยาแล
จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าพ่อพระยาแลผู้สร้างเมืองชัยภูมิคนแรก
จัดระหว่างวันที่ 12-20 มกราคมของทุกปี
ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดและสี่แยกอนุสาวรีย์ เจ้าพ่อพระยาแล
ในการจัดงานนี้ประกอบด้วยพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณของเจ้าพ่อพระยาแล
ขบวนแห่สักการะอนุสาวรีย์ เจ้าพ่อ ขบวนถวายช้างแด่เจ้าพ่อ
และขบวนแห่ของอำเภอต่างๆ รวมทั้งการออกร้าน จัดนิทรรศการของหน่วยราชการและเอกชน
การประกวดผลิตผลทางการเกษตร
งานประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อพระยาแล
ที่บริเวณศาลหนองปลาเฒ่า จัดขึ้นระหว่างวันที่
12-20 พฤษภาคม ของทุกปี ชาวบ้านจะไปเคารพสักการะ ดวงวิญญาณของเจ้าพ่อ
และรำถวายเจ้าพ่อที่ศาลหลังเก่ากันเป็นจำนวนมาก
ประเพณีรำผีฟ้า
เป็นการรำบวงสรวงเป็นกลุ่มๆ ที่ภูพระ
ซึ่งมีพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปแกะสลักในหินทรายสูงประมาณ 2 เมตร
ชาวบ้านถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก การรำบวงสรวงนี้จะมีขึ้นในระหว่างวันขึ้น 13-15
ค่ำ เดือน 5 คือเดือนเมษายน และในวันเข้าพรรษา ออกพรรษา
ซึ่งจะมีประชาชนไปทำบุญกันมาก
งานแห่เทียนเข้าพรรษา
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (ประมาณเดือนกรกฎาคม)
เป็นงานที่เทศบาลเมืองชัยภูมิจัดขึ้นทุกปี มีการประกวด
เทียนพรรษาที่ประดิษฐ์อย่างสวยงาม
เป็นงานที่มีประชาชนให้ความสนใจไม่แพ้งานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี
นอกจากนี้ยังมีงานประเพณีอื่นๆ ที่จัดเป็นประจำทุกปี
เช่นเดียวกับจังหวัดในภาคอีสาน เช่น งานบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือนหก
ประมาณเดือนพฤษภาคม งานบุญข้าวจี่ เป็นการฉลองเมื่อเสร็จสิ้นการทำนา
ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ งานบุญพระเวช หรืองานบุญเดือนสี่ ประมาณเดือนมีนาคม
มีการเทศน์มหาชาติ
|