หอคอยบรรหาร-แจ่มใส
และ สวนเฉลิมภัทรราชินี
|
ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสุพรรณบุรี บนถนนนางพิม ตำบลท่าพี่เลี้ยง
หอคอยบรรหาร-แจ่มใส
เป็นหอคอยแห่งแรกและสูงที่สุดในประเทศไทย มีความสูงถึง 123 เมตร
มีชั้นสำหรับชมวิวในระดับสูงสุด 78.75 เมตร และระดับต่ำลงมาคือ 72.75,
66.75 และ 33.75 เมตร ตามลำดับ
บนหอคอยได้มีการติดตั้งกล้องส่องทางไกลไว้รอบด้าน
มีร้านขายของที่ระลึกและอาหารว่าง
มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองสุพรรณบุรี ทั้งด้านประวัติศาสตร์
วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่
รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและเรื่องราวน่ารู้ของจังหวัดสุพรรณบุรีไว้ทั้งหมด
อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
และภายใน
สวนเฉลิมภัทรราชินี
ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่สมบูรณ์แบบ ในเนื้อที่ 15 ไร่
นอกจากจะเป็นที่ตั้งของหอคอยบรรหาร-แจ่มใส แล้ว ยังมีตึกแสดงผลงานของ ฯพณฯ
บรรหารสวนน้ำพร้อมสไลเดอร์ สวนลายไทย สวนนกพิราบ สวนดอกไม้ สนามเด็กเล่น
บ่อน้ำพุ สนามออกกำลังกาย ฯลฯ
หอคอยบรรหาร-แจ่มใส
เปิดให้เข้าชุมทุกวัน เว้นวันจันทร์
อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20
บาท
สวนเฉลิมภัทรราชินี
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ ตามวันและเวลาดังนี้
วันอังคาร-ศุกร์ เวลา 10.00--19.00 น.
วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 1.00-20.30 น.
อัตราค่าเข้าชม
ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (035) 522721
|
|
----------------------------------------------------------------
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
|
อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง
ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ถนนสมภารคง
แยกจากถนนมาลัยแมนไปประมาณ 300 เมตร
ในสมัยก่อนเป็นศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง
มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี
ปรางค์องค์ประธานเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้
แต่ได้ถูกชาวบ้านลักลอบ ขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรมไปมาก
พระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังมาก อันเป็นหนึ่งใน "เบญจภาคี"
ก็ได้ไปจากกรุในองค์พระปรางค์นี้
นักโบราณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้าง
ในสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ
เพราะหลักฐานการก่อสร้างเป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน
ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา
|
|
----------------------------------------------------------------
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
|
อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน
ห่างจากฝั่งแม่น้ำไปตามถนนมาลัยแมน เดิมศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
เป็นศาลไม้ทรงไทยมีเทวรูปพระอิศวร และพระนารายณ์
สลักด้วยหินสีเขียว 2 องค์ สวมหมวกเติ๊ก (หมวกทรงกระบอก)
ปัจจุบันได้สร้างศาลเป็นรูปวิหารและเก๋งจีน
ก่อปูนติดกับองค์พระอิศวร และพระนารายณ์ไว้ทั้งสองด้าน
ที่ศาลแห่งนี้ทุกๆ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 จีนของทุกปี
จะมีประเพณี "ทิ้งกระจาด" (หรือพิธีทิ้งทาน)
ซึ่งเป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน
ถือเป็นการจำเริญเมตตาแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว
โดยเอาสิ่งของต่างๆ ที่ผู้ตายใช้สอยและของที่จำเป็นอื่นๆ
แจกแก่ผู้ยากจน |
|
----------------------------------------------------------------
วัดหน่อพุทธางกูร
|
เดิมชื่อ วัดมะขามหน่อ ตำบลพิหารแดง
อยู่เลยวัดแคไปทางเหนืออีก 2 กม.
อยู่ฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ สร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ภายในพระอุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ
เป็นจิตรกรรมที่มีความงดงาม เขียนราว พ.ศ. 2391 สมัยรัชกาลที่
3 |
|
----------------------------------------------------------------
วัดป่าเลไลยก์
|
ตั้งอยู่ที่ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร หน้าบันของ
พระวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมายพระมหามกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่
บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
เคยเสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังทรงผนวชอยู่
เมื่อได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วได้ทรงมาปฏิสังขรณ์
วัดป่าเลไลยก์อยู่ริมถนนมาลัยแมนสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยที่
เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรืองในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแต
ทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ภายหลัง พ.ศ. 1724 เล็กน้อย
ที่วัดป่าเลไลยก์มี "หลวงพ่อโต"
ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารที่สูงเด่นเห็นได้แต่ไกล
เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทอง สุพรรณภูมิ
(คือประทับนั่งห้อยพระบาท) พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ
พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ อีกข้างหนึ่งในท่าทรงรับของถวาย
องค์พระ สูง 23.48 เมตร มีนักปราชญ์หลายท่านว่า เดิมคงเป็น
พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้งอย่างพระพนัญเชิงในสมัยแรก
และมักจะพบว่าพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยก่อนอยุธยา
และอยุธยาตอนต้น
ส่วนมากชอบสร้างไว้กลางแจ้งเพราะสามารถมองเห็นได้แต่ไกล
ภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ 36 องค์
ที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย
หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรี
และจังหวัดใกล้เคียงมาก
มีงานเทศกาลประจำปีสมโภชและนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ ปีละ 2
ครั้ง คือ ในวันขึ้น 5-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12 นอกจากนี้
ภายในบริเวณวัด ยังมี "คุ้มขุนช้าง" ซึ่งเป็นเรือนไทยหลังใหญ่
สร้างตามบทพรรณนาเรือนของขุนช้างในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน
|
|
----------------------------------------------------------------
วัดพระนอน
|
ตำบลพิหารแดง อยู่เลยวัดหน่อพุทธางกูรไปเล็กน้อย
วัดพระนอนนี้อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน บริเวณริมน้ำหน้าวัดมีปลา
นานาชนิด และชุกชุม มีทั้งปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาแรด ปลาตะโกก
จำนวนนับแสนตัว
แรกทีเดียวพระภิกษุสามเณรในวัดนำเศษอาหารมาโปรยให้เป็นทาน
และทางวัดประกาศเป็นเขต อภัยทาน ต่อมาทางวัดได้จัดอาหารปลาจำหน่าย
ปลูกไม้ ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ บริเวณจึงร่มรื่นสวยงาม
และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจที่ขึ้นหน้าขึ้นตาแห่งหนึ่งของจังหวัด
นอกจากนี้ ในวัดยังมี พระนอน เป็นพระพุทธรูป
ในลักษณะนอนหงายสร้างเท่าคนโบราณ
มีลักษณะเหมือนกับพระนอนที่เมืองกุสินารา
สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ในประเทศอินเดีย
|
|
----------------------------------------------------------------
วัดแค |
เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน"
อยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ไปทางเหนือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุประมาณ
2 กม. ภายในวัดนี้มีต้นมะขามใหญ่วัดโคนต้นโดยรอบได้ประมาณ 10 เมตร
เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามจากต้น มะขามต้นนี้
ให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากท่านอาจารย์คงไว้โจมตีข้าศึก
นอกจากนี้ทางจังหวัดได้สร้างเรือน ไทยทรงโบราณเรียกว่า
"คุ้มขุนแผน" ไว้ใกล้กับต้นมะขามยักษ์นี้อีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสวัดแคเมื่อ
พ.ศ. 2447 วัดนี้มีโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธบาทสี่รอย
ทำด้วยทองเหลืองกว้าง 1.40 เมตร ยาว 2.80 เมตร
สร้างซ้อนกันไว้ในรอยใหญ่
นอกจากนี้ก็มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบศิลปรัตนโกสินทร์
จีวรและอังสะเป็นดอกพิกุลงดงามมาก
ประดิษฐานอยู่ในวิหารหน้าพระประธาน สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ก็มีเช่น
ระฆังทองเหลือง หม้อต้ม กรักทองเหลือง
ตู้ใส่หนังสือที่พระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายเมื่อปี
2412
|
|
----------------------------------------------------------------
วัดพระลอย
|
อยู่ที่ริมแม่น้ำท่าจีน ในตำบลรั้วใหญ่ ห่างจากจังหวัดประมาณ 2 กม.
ภายในวัดมีอุโบสถจตุรมุข ใหญ่ สูงเด่น สง่างาม มี พระพุทธนวราชมงคล
สวยงามมาก และมีพระพุทธรูปเนื้อหินทรายปางต่างๆ เก่าแก่มาก
บริเวณหน้าวัดเป็นที่สงวนพันธุ์สัตว์น้ำ
มีฝูงปลาหลายชนิดเป็นจำนวนมาก อาศัยความ ร่มเย็นของวัดพระลอย
ซึ่งทางวัดได้จัดอาหารจำหน่ายนำรายได้เข้าวัดอีกด้วย
ถือเป็นอุทยานมัจฉาอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี
|
|
----------------------------------------------------------------
วัดสุวรรณภูมิ
(วัดกลางหรือวัดใหม่)
|
เป็นวัดสมัยอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ที่ถนนพระพันวษา
ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี มีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่
พิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ เช่น ถ้วยชาม
แจกัน พระพุทธรูป นาฬิกา อาวุธต่างๆ น่าชมมาก โดยเฉพาะบาตรสังคโลก
ซึ่งมีชิ้นเดียวในประเทศไทย
|
|
----------------------------------------------------------------
วัดประตูสาร
|
อยู่ที่ถนนขุนช้าง ตำบลรั้วใหญ่ ภายในเขตเทศบาลเมืองฯ
เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง และสถาปนาขึ้นเป็นวัด
ไม่มีหลักฐานเก่าระบุไว้แต่คงจะสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2379
ซึ่งเป็นปีที่สุนทรภู่มาสุพรรณบุรี
ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ฝีมือช่างหลวง
เชื่อกันว่า เป็นคนเดียวกับที่
เขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดหน่อพุทธางกูร เขียนราว พ.ศ. 2391
นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมที่เขียนบนพื้นไม้เป็นแผ่นๆ
เรื่องราวพุทธประวัติและมหาชาติ ลักษณะ
ของภาพเหมือนจะลอกแบบจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ
เก็บรักษาอยู่ในวิหาร
|
|
----------------------------------------------------------------
วัดสนามไชย
|
ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลสนามชัย ห่างจากจังหวัดประมาณ 2 กม.
มีเนื้อที่ประมาณ 57 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีฝั่งตะวันออก
วัดสนามไชยเป็นวัดร้าง เหลือเพียงแต่ซากเจดีย์ด้านเหนือซีกเดียว
ภายในเจดีย์กลวงไม่ปรากฏว่าพบสิ่งใดที่เป็นหลักฐานระบุว่าสร้างในสมัยใด
แต่จากพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแต
ทรงให้มอญน้อยสร้างวัดสนามไชยขึ้นพร้อมๆ กับบูรณะวัดป่าเลไลยก์ก่อน
พ.ศ. 1746 นักโบราณคดีได้ให้ข้อสันนิษฐานและคำอธิบายว่า
เจดีย์วัดสนามไชย เป็นเจดีย์ทรง 16 เหลี่ยมกว้าง ด้านละ 48 เมตร
ยาวด้านละ 62 เมตร
สันนิษฐานจากศิลปะการก่อสร้างว่ามีการสร้างและปฏิสังขรณ์ถึง 3
ครั้ง คือ ในสมัยอู่ทอง สุพรรณภูมิ สมัยอโยธยา และสมัยอยุธยา
นอกจากนี้ จากการสำรวจของ
กรมศิลปากรที่ขุดค้นซากเจดีย์ซีกตะวันออกพบอัฐิ
และเถ้าถ่านเป็นจำนวนมาก และยังไม่อาจลง
ความเห็นได้ว่าเป็นอัฐิธาตุของใคร นักโบราณคดีได้สรุปผลไว้ 3
ประการ คือ
1. เป็นอัฐิธาตุของประชาชนที่เป็นโรคห่าตายพร้อมๆ
กันเป็นจำนวนมากในสมัย อู่ทองสุพรรณภูมิ
2. เป็นอัฐิธาตุของเชื้อพระวงศ์ที่นำมาบรรจุรวมกันไว้
3. เป็นอัฐิธาตุของทหารที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับขอมหรือพม่า
|
|
----------------------------------------------------------------
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ชาวนาไทย
|
ตั้งอยู่ที่ถนนพระพันวษา ในบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี
เป็นอาคารคอนกรีต สร้างแบบเรือนไทยประยุกต์ 2 ชั้น
ชั้นล่างจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของการทำนา
เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา ประเพณีและวิถีชีวิตของชาวนา
ส่วนชั้นบนแสดงให้เห็นถึง
พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูชาวนาไทยและทรงพัฒนา
การทำนาและการเกษตรของชาติ
รวมถึงจัดแสดงภาพจำลองเหตุการณ์พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
ได้ทรงทำปุ๋ยหมัก หว่านและเก็บเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง ณ
แปลงนาสาธิต บึงไผ่แขก ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
เมื่อปี พ.ศ. 2529 และเก็บรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ
ที่พระองค์ทรงใช้
นอกจากนี้ยังมีห้องค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราว
และวัตถุที่จัดแสดงโดยเปิดให้เข้าชมทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา
09.00-16.00 น.
|
|
----------------------------------------------------------------
----------------------------------------------------------------
วัดพระรูป
|
ตั้งอยู่ที่ถนนขุนช้าง ริมฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน
ตรงข้ามตลาดสุพรรณบุรี
วัดนี้เป็นวัดที่เก่าแก่มีอายุอยู่ในสมัยอู่ทองตอนปลาย
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธรูปปางไสยาสน์
ชาวบ้านเรียกว่า เณรแก้ว ก่ออิฐถือปูน ยาว 13 เมตร สูง 3 เมตร
พระพักตร์กลมยาวคล้ายผลมะตูม ผินพระพักตร์ส่ทิศตะวันออก
สันนิษฐานว่าสร้างในราว พ.ศ. 1800 -1893 และถือว่าเป็นพระนอน
ที่มีพระพักตร์งามมากที่สุดในประเทศไทย อีกสิ่งหนึ่งที่น่าชม
ได้แก่ พระพุทธบาทไม้ เป็นโบราณวัตถุที่หาค่าไม่ได้
ศิลปการแกะสลักงดงามมากมีขนาดยาว 221.5 เซนติเมตร กว้าง 74
เซนติเมตร หนา 10 เซนติเมตร ทำจากไม้ประดู่แกะสลักทั้ง 2 ด้าน
มีเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย เดิมพระพุทธบาทไม้อยู่ที่วัดเขาดิน
เมื่อตอนเกิดศึกไทย-พม่า พระภิกษุรูปหนึ่งเกรงจะถูกทำลาย
จึงนำล่องลงมาทางน้ำแล้วเอาขึ้นที่วัดพระรูป นอกจากนี้ยังมี
เจดีย์อู่ทองและซากเจดีย์สมัยทวารวดี
ระฆังสัมฤทธิ์และธรรมาสน์สังเค็ต
ฝีมือช่างอยุธยาตอนปลายและยังเป็นกรุ " พระขุนแผน "
อันมีชื่อเสียงอีกด้วย
|
|
----------------------------------------------------------------
กำแพงเมืองเก่าและประตูเมือง |
เมืองสุพรรณบุรีเก่าตั้งอยู่ในตำบลรั้วใหญ่ (บ้านขุน-ช้าง)
ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ขณะนี้ยังเหลือ
แนวกำแพงดินและคูเมืองให้เห็นชัดระหว่างทางไปวัดป่าเลไลยก์กับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองนี้ กำแพงทำแข็งแรงเป็นพิเศษสองชั้น
มีคูน้ำกั้นอยู่ชั้นนอก มีเนินดินและกำแพงอยู่ชั้นในยาวถึง 3,500
เมตร ส่วนด้านกว้างกำแพงยาว 1,000 เมตร จดแม่น้ำ
แต่ไม่พบตัวกำแพงด้านตะวันออก
เพราะถูกรื้อเสียในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5
ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ในพระราช-หัตถเลขา
เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าว่า
"เมืองสุพรรณบุรีมีกำแพงเป็นสองฟากเหมือนเมืองพิษณุโลกยื่นขึ้นไปจากฝั่งแม่น้ำราว
25 เส้น ดูกว้างประมาณ 6 วา นอกเชิงเทิน"
ส่วนประตูเมืองตั้งอยู่ที่ถนนมาลัยแมน บนแนวกำแพงเมืองเก่า
ประตูเมืองที่เห็นในปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ตามแบบของกรมศิลปากร
ตรงสถานที่ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของประตูเมืองเดิม
|
|
----------------------------------------------------------------
ศูนย์หัตถกรรมภาคตะวันตก |
ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนกำยาน ริมถนนมาลัยแมน
ห่างจากตัวเมืองไปทางอำเภออู่ทอง ประมาณ 8 กม.
ศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมในครอบครัว
และหัตถกรรมในเขตพื้นที่ 14 จังหวัดภาคตะวันตก
มีอาคารแสดงนิทรรศการผลงานผลิตภัณฑ์หัตถกรรมดีเด่น
สวยงามประเภทต่าง ๆ
รวมทั้งจัดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปในราคาย่อมเยา |
---------------------------------------------------------------
วัดมหาธาตุ
หรือวัดพระธาตุศาลาขาว
|
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามถนนมาลัยแมน
(ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ) ไป 15 กม.
วัดมหาธาตุตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดสวนแตง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า
วัดพระธาตุนอก เพราะลักษณะ
พระปรางค์คล้ายกับพระปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแต่ขนาดย่อมกว่า
มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร เป็นพระปราค์เดี่ยว
ไม่มีพระปรางค์องค์เล็กคู่เดียวประกอบ
ทั้งด้านหน้าด้านหลังมีบันไดและซุ้มประตู
ยอดพระปรางค์มนกว่ายอดพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งมียอดแหลม
แผ่นอิฐมีขนาดเล็ก และสอด้วยปูนหวาน เนื้อหยาบ จากหลักฐาน พ.ศ.
1967-2031 (ในรัชสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)
หรือพระบรม-ไตรโลกนาถ) |
---------------------------------------------------------------
วัดพระอินทร์และแหล่งขุดพบภาชนะดินเผา |
วัดพระอินทร์เป็นวัดเก่าแก่อยู่ในตัวเมือง
ภายในวัดมีซากเจดีย์ปรักหักพัง ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการดูแล
ลักษณะเจดีย์เป็นฐานแปดเหลี่ยม มีซุ้มไว้พระพุทธรูปประกอบด้วย
ภายปูนปั้น และภาพนูนต่ำ
ที่ขอบซุ้มมีลายใบไม้ม้วนเรียงกันไปทางทิศเหนือเป็นแนวเดียวกัน
ซุ้มด้านตะวันตกมีพระพุทธรูปยืนปางปฐมเทศนา
ที่ปลายของซุ้มทั้งสองข้างทำลวดลาย เป็นรูปพญานาคชูคอขึ้น
ที่หัวมีรัศมีแผ่คล้ายพัดใกล้ฐานพระเจดีย์มีพระพุทธรูป
องค์หนึ่งมีลักษณะครึ่งองค์ตั้งอยู่บนพื้นดิน นอกจากนี้รอบๆ
องค์เจดีย์ยังมีเศษภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนของเครื่องสังคโลก
กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ปลายปี พ.ศ. 2528 ได้ค้นพบแหล่งเตาเผา
เครื่องถ้วยชามบริเวณสองฝั่งของแม่น้ำสุพรรณบุรี
บริเวณบ้านค่ายเก่ากับโพธิ์พระยาในเขตตำบลพิหารแดง สนามชัย
และรั้วใหญ่ ได้พบเศษภาชนะต่างๆ เช่นเครื่องสังคโลก เครื่องถ้วยจีน
ภาชนะดินเผาเนื้อดินและเนื้อหิน จำนวนหมื่นๆ ชิ้น ต้นปี พ.ศ. 2529
ได้ขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเตาบ้านสุมน แหล่งเตาบ้านปูน
ตำบลพิหารแดง พบเตาเผาถึง 10 เตา มีความยาว 5 เมตร กว้าง 2 เมตร
ซึ่งใช้ผลิตภาชนะเนื้อหิน เช่น ชาม จาน อ่าง แจกัน หม้อ
ซึ่งมีลวดลายแปลกแตกต่างกันเช่น ลายเทวดา ลายเทพพนม รูปทรงเรขาคณิต
ลายดอกไม้ ฯลฯ
|
---------------------------------------------------------------
สระศักดิ์สิทธิ์ |
อยู่ในเขตตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองฯ ริมถนนสายดอนเจดีย์-สุพรรณบุรี
ห่างจากตัวเมือง 13 กม. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เคยเสด็จมาทอดพระเนตร สระศักดิ์สิทธิ์ที่ตำบลนี้
จึงเป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านท่าเสด็จ
สระศักดิ์สิทธิ์เดิมพบเพียง 4 สระ คือ สระแก้ว สระคา สระยมนา
สระเกษ (ต่อมาพบอีก 2 สระ คือ สระอมฤต 1 สระอมฤต 2)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชหัตถเลขาไว้ว่า
"…แต่เหตุไฉนที่สระนี้ขลังนักไม่ปรากฏ
คงจะมีตัวครูบาที่สำคัญเป็นอันมาก
น้ำในสระก็ไม่ใช้ปลาในสระก็ไม่กิน สระมีหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด
มีจระเข้อาศัยอยู่ทั้งสี่สระ…น้ำสระคา สระยมนา ไม่สู้สะอาด มีสีแดง
แต่น้ำสระเกษ สระแก้วใสสะอาด…"
น้ำในสระทั้งหมดนี้ใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
และพระราชพิธีสระน้ำมูรธาภิเษกตามลัทธิพราหมณ์
ปัจจุบันนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนจัดตั้งสระน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นโบราณสถานไว้เรียบร้อยแล้ว
|
---------------------------------------------------------------
สวนนกท่าเสด็จ
(หน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ) |
ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเสด็จ ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง
ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กม. ตามทางสายสุพรรณบุรี-ดอนเจดีย์
(ทางหลวงหมาย-เลข 322) จากตัวเมืองเดินทางไปยังสี่แยกแขวงการทาง
แล้วเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานสูงไปจนถึงสามแยก ตรงไปอีกประมาณ 10 กม.
เลี้ยวขวาไปอีก 2 กม. สวนนกแห่งนี้ ตั้งอยู่ในที่ดินของนางสาวนก
พันธุ์เผือก และนายจอม-นางถนอม มาลัย
ซึ่งมีนกอาศัยทำรังอยู่เป็นจำนวนนับหมื่นตัว เช่น นกปางห่าง นกยาง
นกกาน้ำ นกกาบบัว นกกระสา นกแขวก และนกช้อนหอย เป็นต้น
ในเวลากลางวันจะมีนกให้ชมอยู่บ้าง
ส่วนในตอนเย็นจะมีนกบินกลับรังจนดูมืดฟ้ามัวดิน
นกเหล่านี้ได้มาอาศัยอยู่ในสวนนี้นับ 10 ปีแล้ว
ขณะนี้กรมป่าไม้ได้จัดเจ้าหน้าที่มาประจำสวนนกแห่งนี้
และจัดตั้งเป็นหน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ ช่วงที่มีนกมาก คือ
ในช่วงเดือนตุลาคม
|
---------------------------------------------------------------
วัดพร้าว |
อยู่ที่ตำบลโพธิ์พระยา ติดกับประตูน้ำโพธิ์พระยา
ห่างจากจังหวัดประมาณ 9 กม.
ภายในวัดมีวิหารเลียนแบบสถาปัตยกรรมพม่า
เป็นที่ประดิฐฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง นอกจากนั้น ยังมีหอไตรกลางน้ำ
ตู้พระธรรม ในวัดยังมีดงยางเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวแม่ไก่
จำนวนนับพันตัว |
|