|
พระที่นั่งไกรสรสีหราช
(พระที่นั่งเย็น
หรือตำหนักทะเลชุบศร), ลพบุรี
พระที่นั่งไกรสรสีหราช
(พระที่นั่งเย็น
หรือตำหนักทะเลชุบศร) |
ตั้งอยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร
อำเภอเมืองลพบุรี
ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 4
กิโลเมตร
พระที่นั่งไกรสรสีหราช
หรือพระที่นั่งเย็น
เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ณ เมืองลพบุรี
สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดฯ
ให้สร้างขึ้นเพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถ
บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์
ประพาสป่าล่าช้างบริเวณภูเขาทางทิศตะวันออก
แล้วจะกลับเข้าเสด็จประทับ
ณ พระที่นั่งองค์นี้
สร้างขึ้นในปีใดในรัชกาลของพระองค์ใดไม่ทราบแน่ชัด
แต่จากการที่พระองค์ได้ทรงต้อนรับ
พระราชอาคันตุกะจากประเทศฝรั่งเศส
ณ พระที่นั่งใน พ.ศ. 2228
จึงเป็นหลักฐานที่แน่ชัดว่าพระที่นั่งเย็นได้สร้างก่อน
พ.ศ. 2228
องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศรซึ่งในสมัยโบราณเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ
สภาพปัจจุบันเหลือแต่ผนัง
เครื่องบน หักพังหมดแล้ว
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งองค์นี้
คือ
เป็นพระที่นั่งชั้นเดียวมีผังเป็นทรงจตุรมุข
ตรงมุขหน้ามีมุขเด็จยื่นออกมาและมีสีหบัญชรกลางมุขเด็จ
สำหรับสมเด็จพระนารายณ์ฯ
เสด็จออกซุ้มหน้าต่าง
และซุ้มประตูทำเป็นซุ้มเรือนแก้วเป็นแบบแผนที่นิยมทำกันมากในอาคารสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ฯ
ในบริเวณพระที่นั่งเย็นมีอาคารเล็ก
ๆ ก่อด้วยอิฐอื่น ๆ อีก
ซึ่งทำประตูหน้าต่างเป็นแบบโค้งแหลม
ซึ่งเข้าใจว่าเป็นที่พักทหาร
ด้านหน้าและด้านหลังพระที่นั่งมีเกยทรงม้าหรือช้างด้านละแห่ง
พระที่นั่งเย็น
มีความสำคัญในฐานะที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ
ใช้เป็นสถานที่สำรวจจันทรุปราคา
เมื่อ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228
และทอดพระเนตรสุริยุปราคา
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2231
ร่วมกับบาทหลวงเยซูอิต
และบุคคลในคณะทูตชุดแรก
ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14
แห่งประเทศฝรั่งเศสส่งมาเจริญสัมพันธไมตรี
เหตุที่ได้ใช้พระที่นั่งเย็นเป็นที่สำรวจจันทรุปราคา
มีบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าเป็นที่เหมาะสม
มองท้องฟ้าได้ทุกด้าน
และมีพื้นที่กว้างมากพอสำหรับที่จะติดตั้งเครื่องมือยังมีภาพการสำรวจจันทรุปราคาที่พระที่นั่งเย็นซึ่งชาวฝรั่งเศสวาดไว้
เป็นรูปสมเด็จพระนารายณ์ฯ
ทรงสวมลอมพอกทรงกล้องส่องยาววางบนขาตั้ง
ทอดพระเนตรดวงจันทร์จากสีหบัญชรของพระที่นั่งเย็นและตรงเฉลียงสองข้างสีหบัญชร
ด้านหนึ่งมีขุนนางหมอบกราบ
อีกด้านหนึ่งมีนักดาราศาสตร์กำลังสังเกตการณ์โดยใช้กล้องส่อง
จึงกล่าวได้ว่าการศึกษาวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย
ณ พระที่นั่งเย็น
เมืองลพบุรีนี้เอง |
|
|
|