ปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่
ตั้งอยู่ที่บ้านกำแพงใหญ่ ตำบลสระกำแพงใหญ่
อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัยตามทางหลวงหมายเลข 226 ทางไปตัวเมืองศรีสะเกษ
ประมาณ 2 กม. บริเวณ กม.81 เป็นปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด
ลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์บนฐานเดียวกัน เรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ก่อด้วยหินทราย มีอิฐแซมบางส่วน
มีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างบนแท่นเหนือหน้ากาล ส่วนปรางค์อีก 2
องค์เป็นปรางค์อิฐ มีส่วนประกอบตกแต่งที่เป็นหินทราย เช่น ทับหลัง
กรอบหน้าบันและกรอบเสาประตูด้านหลังปรางค์องค์ทิศใต้มีปรางค์ก่ออิฐอีก 1 องค์
ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ 2 หลัง ล้อมรอบด้วย ระเบียงคต มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้ง 4
ทิศ บริเวณปราสาทมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมากเช่น ทับหลังจำหลักลวดลายต่าง ๆ
พระพุทธรูปนาคปรก พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพิมพ์ดินเผาและประติมากรรมทวารบาลสำริด
ปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16
เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ
และได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาในลัทธิมหายานเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18
ปราสาทหินวัดสระกำแพงน้อย
ตั้งอยู่ที่บ้านกลาง ตำบลชะยูง
ห่างจากตัวอำเภออุทุมพรพิสัย ตามเส้นทางอุทุมพรพิสัย-ศรีสะเกษ(ทางหลวงหมายเลข 226)
ประมาณ 14 กม. ประกอบด้วยปรางค์และวิหารซึ่งก่อด้วยศิลาแลงมีกำแพงล้อมรอบ
สันนิษฐานว่าเป็นอโรคยาศาลหรือสุขศาลาประจำชุมชนที่สร้างขึ้นในสมัยเดียวกับปราสาทสระกำแพงใหญ่
แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก บริเวณใกล้กับปราสาทมีสระน้ำขนาดเล็ก ขอบเป็นศิลาแลง
เรียกกันว่า สระอโนดาต
|