ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ตั้งอยู่ที่สี่แยกถนนเทพาตัดกับถนนหลักเมือง
ห่างจากศาลากลางจังหวัดเพียงเล็กน้อย
เดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมไม่เหมาะแก่การประกอบพิธีกรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2529
ทางจังหวัดจึงได้ก่อสร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ ลักษณะเป็นแบบจตุรมุข
ประดับด้วยหินอ่อนและกระจกสีอย่างงดงามเสาหลักเมืองทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์
ลักษณะเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ นับเป็นศาลหลักเมืองที่สวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย
วัดมหาพุทธราม
ตั้งอยู่ใจกลางเมืองศรีสะเกษ
มีวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน"หลวงพ่อโต" ชึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางมารวิชัย
มีความสูงจากฐานถึงยอดเกศ 6.85 เมตร หน้าตักกว้าง 3.50 เมตร
เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของชาวศรีสะเกษ
สวนสมเด็จศรีนครินทร์
ตั้งอยู่ในวิทยาลัยเกษตรกรรม จังหวัดศรีสะเกษ
ถนนกสิกรรม ตำบลหนองครก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กม. มีเนื้อที่ 237 ไร่
ลักษณะเป็นสวนป่าในเขตเมือง มีต้นลำดวนขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นดงใหญ่
เหมาะแก่การทัศนศึกษาในเชิงพฤกษศาสตร์
ต้นลำดวนซึ่งมีจำนวนกว่าสี่หมื่นต้นนี้จะผลิดอกหอมอบอวลไปทั่วในราวเดือนมีนาคมของทุกปี
และเนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้มีความเกี่ยวพันกับชื่อ ศรีนครลำดวน ในอดีด
จึงได้นำเอาต้นลำดวนมาเป็นสัญญลักษณ์ของจังหวัด
นอกจากนี้มีพื้นที่ซึ่งจัดเป็นสวนสาธารณะ
มีบึงน้ำสำหรับพายเรือเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ
สวนสัตว์องค์การบริหารส่วนจังหวัด
(สวนสัตว์ราษฎร์ประเสริฐอนุสรณ์)
อยู่ในบริเวณสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ ร.9 โนนหนองกว้าง ตำบลน้ำคำ
ห่างจากศาลากลางจังหวัดราว 4 กม.ตามเส้นทางสายศรีสะเกษ-อำเภอยางชุมน้อย
เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ในบริเวณมีสัตว์ป่าหลายชนิด
ให้ชมและมีหนองน้ำขนาดใหญ่สำหรับแข่งเรือพายและศาลาริมน้ำสำหรับพักผ่อน
พระธาตุเรืองรอง
ตั้งอยู่ที่บ้านสร้างเรือง ตำบลหญ้าปล้อง
ห่างจากเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2373 สายศรีสะเกษ-ยางชุมน้อย ประมาณ 7.5 กม.
เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นโดยผสมศิลปอีสานใต้ สี่เผ่าไทย ได้แก่ ลาว ส่วย เขมร เยอ
มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัว พระธาตุมีความสูง 49 เมตร แบ่งออกเป็น 6
ชั้น ชั้นล่างสุดใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา
ชั้นที่สองและสามเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสี่เผ่าไทย
ชั้นที่สี่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ชั้นที่ห้าใช้สำหรับการทำสมาธิ
และชั้นที่หกเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและจุดชมทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ |