เมืองโบราณที่ตำบลโคราช
หรือเมืองโคราชเก่า มีโบราณสถานเหลืออยู่ให้เห็น 3
แห่งด้วยกัน คือ ปราสาทโนนกู่ ปราสาทเมืองแขก และปราสาทเมืองเก่า
การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 2 ไปจนถึงกิโลเมตร ที่ 221-222
เลี้ยวขวาไปตามทางเข้าสู่อำเภอสูงเนิน 2.7 กิโลเมตร
จะพบทางแยกขวามือตรงมุมวัดญาณโศภิตวนาราม (วัดป่าสูงเนิน)
ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าสู่เมืองโบราณโคราช รวมระยะทางห่างจากตัวเมืองประมาณ 32
กิโลเมตร
เมืองโบราณที่ตำบลโคราช
ประกอบด้วย
ปราสาทโนนกู่
ตั้งอยู่ที่บ้านกกกอก หมู่ที่ 7 ตำบลโคราช
ห่างจากแยกวัดญาณโศภิตวนาราม 3 กิโลเมตร เป็นศาสนสถานแบบศิลปะเขมร
ก่อด้วยอิฐปนหินทราย ประกอบด้วยปรางค์หลังเดี่ยวบนฐานสูง
ด้านหน้ามีวิหารหันเข้าหาปรางค์ประธานอยู่ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว
มีซุ้มประตูทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นทางเข้า-ออก
และที่ลานระหว่างวิหารทั้งสองนั้นพบโคนนทิหมอบในอาการเคารพปราสาทประธาน
อันเป็นที่สถิตของพระศิวะมหาเทพ ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู ในราวพุทธศตวรรษที่
16
ปราสาทเมืองแขก
ตั้งอยู่ที่บ้านกกกอก หมู่ที่ 7 ตำบลโคราช
อยู่เลยปราสาทโนนกู่ไปประมาณ 600 เมตร ปราสาทเมืองแขกเป็นศาสนสถานแบบศิลปะเขมร
ก่อด้วยอิฐปนหินทราย ประกอบด้วยปรางค์ 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน
หันหน้าไปทางทิศเหนือ
ปัจจุบันเหลือเพียงมณฑปด้านหน้าล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและคูน้ำคั่นดินอีกชั้นหนึ่ง
มีซุ้มประตูทิศเหนือเป็นทางเข้า-ออก นอกประตูซุ้มบนคันดินชั้นนอกสุด
มีซากปราสาทขนาดย่อมอีกสองหลัง
หน่วยศิลปากรได้ทำการขุดแต่งปราสาทเมืองแขกซึ่งได้พบทับหลังสลักลายตามแบบศิลปะเขมรสมัยเกาะแกร์แปรรูป
รวมทั้งศิลาจารึกที่ถูกนำมาก่อเป็นฐานประตูซุ้มชั้นนอกสุด
ปราสาทเมืองเก่า
ตั้งอยู่ในวัดปราสาทเมืองเก่า ตำบลโคราช
อยู่เลยปราสาทเมืองแขกไปอีกประมาณ 3.3 กิโลเมตร เป็นอโรคยาศาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่
7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรเขมร ทรงสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1724-1763
อโรคยาศาลมีแผนผังประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
มีบรรณาลัยอยู่ทางมุมขวาด้านหน้า
ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วซึ่งมีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ด้านหน้า
นอกกำแพงมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมกรุด้วยศิลาแลง
เมืองเสมา
เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ที่ตำบลเสมา ห่างจากนครราชสีมาประมาณ 37
กิโลเมตร จากตลาดอำเภอสูงเนิน
เดินทางข้ามลำตะคองและผ่านบ้านหินตั้งไปจนถึงเมืองเสมาเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร
แผนผังเมืองเป็นรูปไข่กว้าง 1,400 เมตร ยาว 2,000 เมตร
มีการค้นพบโบราณวัตถุในบริเวณนี้มากมาย
ปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียงเนินดินเป็นแนวยาวคล้ายกำแพง
และพระนอนสมัยทวารวดีที่วัดธรรมจักรเสมาราม
เมืองโบราณตำบลเสมา
ประกอบด้วย
วัดธรรมจักรเสมาราม
ตั้งอยู่ที่บ้านคลองขวาง ตำบลเสมา แต่เดิมบริเวณนี้เป็นศาสนสถานในสมัยทวารวดี
มีโบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธรูปปางไสยาสน์
ก่อสร้างด้วยหินทรายแดงที่มีความเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 13.30
เมตร สูง 2.80 เมตร อายุราว พ.ศ. 1200 และธรรมจักรเก่าแก่
ลักษณะเหมือนเสมาธรรมจักรที่ขุดพบที่จังหวัดนครปฐม หลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ
ที่ค้นพบบริเวณพระนอนและภายในเมืองเสมา ได้แก่ พระพุทธรูปสำริด ประพิมพ์ดินเผา
ลูกปัดแก้ว แวดินเผาที่ใช้ปั่นฝ้าย และจารึกที่บ่ออีกา
ซึ่งเป็นศาสนสถานพราหมณ์แบบศิลปะขอม ได้กล่าวถึงอาณาจักรจานาศะ หรือเมืองเสมา
ว่ามีการนับถือพุทธศาสนามาแต่เดิม
ต่อมาภายหลังได้รับวัฒนธรรมแบบขอมที่บูชาพระศิวะเข้ามาพร้อมกันด้วย |