อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร
ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง
ตั้งอยู่บนถนนสองนางสถิตย์ในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร
ในบริเวณศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองนี้ มีหลักเมืองประดิษฐานอยู่ด้วย
ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองนี้ไม่มีผู้ใดทราบความเป็นมาว่าสร้างในสมัยใด
สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองมุกดาหาร
แต่เดิมเป็นเพียงศาลไม้ต่อมาได้มีการบูรณะก่อสร้างเป็นศาลคอนกรีต
ชาวเมืองมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ปกปักรักษาเมืองมุกดาหารให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี
ชาวเมืองมุกดาหารจะมีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล
ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง
ถนนสำราญชายโขงริมแม่น้ำ ติดกับท่าด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดมุกดาหาร
ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องนี้ก็เช่นเดียวกับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง
คือไม่ทราบประวัติความเป็นมา แต่เดิมเป็นศาลไม้ ต่อมาได้มีการบูรณะเป็นศาลคอนกรีต
ชาวจังหวัดมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง
เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่กับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง
ผู้ใดที่เคารพสักการะศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองแล้ว
จะเลยไปเคารพสักการะศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องด้วยเสมอ และในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
ของทุกปี
ชาวจังหวัดมุกดาหารจะจัดให้มีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองและเจ้าแม่สองนางพี่น้องพร้อมกัน
วัดศรีมงคลใต้
เป็นวัดที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์หลวง พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ใกล้กับ
ท่าด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดมุกดาหาร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง
สร้างขึ้นก่อนตั้งเมืองมุกดาหาร ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด องค์มีขนาดหน้าตักกว้าง
2.20 เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยอดพระเมาลี 2 เมตร สูงจากฐาน 3 เมตร
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2310
เจ้ากินรีได้พาพรรคพวกอพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงข้ามมาตั้งเมืองใหม่ขึ้นทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง
ตรงปากห้วยมุก แล้วตั้งนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร
วันหนึ่งขณะที่เจ้ากินรีคุมบ่าวไพร่ถากถางอยู่ใกล้ต้นตาลเจ็ดยอด
ได้พบพระพุทธรูปสององค์ องค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน
องค์เล็กเป็นพระพุทธรูปเหล็กอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เจ้ากินรีจึงสร้างวัดขึ้นบริเวณนั้น
และตั้งชื่อว่า วัดศรีมงคุณ (วัดศรีมงคลใต้ในปัจจุบัน)
เพื่อเป็นมงคลแก่ชาวเมืองและเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปของทั้งสององค์
เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสองไปไว้ในโบสถ์
รุ่งขึ้นเมื่อพระภิกษุประจำวัดเข้าไปสักการะ ก็ปรากฏว่าไม่พบพระพุทธรูปเหล็ก
เมื่อค้นดูรอบๆ บริเวณวัด พบว่าพระพุทธรูปเหล็กไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ตามเดิม
และจมลงในดินเหลือแต่ยอดพระเมาลี เจ้ากินรีจึงสร้างแท่นสักการะบูชาไว้ ณ ที่นั้น
และถวายนามว่า “พระหลุบเหล็ก” ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่วัดศรีมงคลใต้
เรียกนามว่า “พรเจ้าองค์หลวง” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจวบจนทุกวันนี้
พระพุทธสิงห์สอง
เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 1 เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยออดเมาลี
1.20 เมตร สูงรวมทั้งฐาน 2 เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดศรีบุญเรือง (บ้านใต้)
ถนนสำราญชายโขง ในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร
ประวัติความเป็นมาของพระพุทธสิงห์สองนั้น มีหลักฐานปรากฏไว้ว่า
ในสมัยที่เมืองมุกดาหารยังเป็นเมืองใหม่
การปฏิสังขรณ์สร้างโบสถ์ศรีมงคลใต้ยังไม่เสร็จเรียบร้อย
เจ้ากินรีเจ้าเมืองมุกดาหารคนแรกได้เดินทางไปนครเวียงจันทน์
เพื่อนำมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถของวัดศรีมงคลใต้
ต่อมาเจ้ากินรีได้สร้างวัดขึ้นใหม่ที่บ้านศรีบุญเรือง
แล้วตั้งชื่อว่าวัดศรีบุญเรือง
และได้อัญเชิญพระพุทธสิงห์สองจากวัดศรีมงคลใต้ขึ้นประดิษฐานบนแท่นในพระอุโบสถวัดศรีบุญเรือง
เพื่อสักการะบูชาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้
ในงานสงกรานต์ของอำเภอเมืองมุกดาหาร
ชาวอำเภอเมืองมุกดาหารได้กระทำพิธีอัญเชิญพระพุทธสิงห์สองจากพระอุโบสถวัดศรีบุญเรืองแห่รอบเมือง
แล้วนำไปประดิษฐานบนแท่นที่จัดได้ ณ บริเวณหน้าหอประชุมอำเภอ
เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สรงน้ำเป็นประจำทุกปี
|