ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนกู่สวนแตงวิทยาคม บ้านดอนหวาย ตำบลดอนหวาย
การเดินทางจะใช้เส้นทาง บุรีรัมย์-พยัคฆภูมิพิสัย ทางหลวงหมายเลข 219
ระยะทาง 70 กม. แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 202
ทางไปอำเภอประทายอีกประมาณ 40 กม. จะพบทางแยกเข้าสู่กู่สวนแตงด้าน
ซ้ายมือเลี้ยวเข้าไปอีก 1.5 กม. หรือจากบุรีรัมย์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข
2074 ผ่านอำเภอคูเมือง ไปอำเภอพุทไธสง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 202
ไปอีก 20 กม. เลี้ยวซ้ายเข้ากู่สวนแตงอีก 1.5 กม. ลักษณะของกู่สวนแตง
สามารถบอกได้ว่าเป็นโบราณสถานแบบขอมอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยปรางค์ อิฐ 3
องค์ ตั้งเรียงในแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน
อาคารทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูหน้าเพียงประตูเดียว อีก 3
ด้านสลักเป็นประตูหลอก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่และมีสภาพที่
ค่อนข้างสมบูรณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าที่มุขยื่นออกมาเล็กน้อย
ตรงหน้าบันเหนือประตูหลอกทั้ง 3 ด้าน มีลักษณะยื่นออกมาและมีแผ่นศิลาทรายรองรับ
ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ มีขนาดเล็กกว่า
ฐานเป็นรูป สี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเดียวทางด้านหน้าเช่นกัน ส่วนผนังอีก 3
ด้าน ก่อเรียบทึบสำหรับบนพื้นหน้า ปรางค์ มีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายอื่นๆ
ตกหล่นอยู่ เช่น ฐานบัวยอดปรางค์ กลีบขนุนรูปนาค 6 เศียร
อายุของกู่สวนแตงสามารถกำหนด ได้จากทับหลังของปรางค์
ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติพระนคร
อยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องจากภาพสลักบนทับหลังทั้งหมดมี ลักษณะตรงกับศิลปะ
ขอมแบบนครวัด ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์
ตรีวิกรม (ตอนหนึ่ง ในวามนาวตาร แสดงภาพพระนารายณ์ย่างพระบาท 3 ก้าว
เหยียบโลกบาดาล โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์) ทับหลังภาพศิวนาฏราช
ทับหลังภาพการกวนเกษียรสมุทรทับหลังภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ ฯลฯ
แต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่สวยงามน่าสนใจยิ่ง
|