อยู่ในเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก
ติดกับสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 ถนนอู่ทอง
พระเจดีย์แห่งนี้เป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
เป็นอนุสรณ์สถานของวีรสตรีไทยพระองค์แรก
สมเด็จพระสุริโยทัยซึ่งสิ้นพระชนม์ในการทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าแปรและเป็นการยืนยันเกียรติแห่งสตรีไทยที่ได้รับการยกย่องจากสังคมไทยมาแต่ครั้งบรรพกาล ปี
พ.ศ. 2091
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชสมบัติมีสมเด็จพระสุริโยทัยเป็นพระมเหสี
หลังจากครองราชย์ได้ 7 เดือน
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และบุเรงนองยกทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาโดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์จังหวัดกาญจนบุรีและตั้งค่ายล้อมพระนคร
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงช้างออกไปพร้อมกับพระราชโอรส
สมเด็จพระสุริโยทัยทรงเป็นห่วงพระราชสวามีจึงได้ทรงเครื่องแบบอย่างนักรบชายประทับช้างตามเสด็จออกไป
กองทัพกรุงศรีอยุธยาปะทะกับทัพหน้าของกรุงหงสาวดีซึ่งมีพระเจ้าแปรเป็นแม่ทัพ
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงไสช้างเข้าชนกับช้างของพระเจ้าแปรและบังเอิญช้างทรงเกิดเพลี่ยงพล้ำ
สมเด็จพระสุริโยทัยจึงไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรด้วยเกรงว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระราชสวามีจะเป็นอันตราย
จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง |
|
เมื่อสงครามยุติลงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงปลงพระศพของพระนางและสถาปนาวัดที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัดสวนหลวงสบสวรรค์
(เดิมชื่อ วัดสบสวรรค์)
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้มีการสอบสวนหาตำแหน่งสถานที่ต่างๆ
ที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารเพื่อเรียบเรียงเป็นหนังสือประชุมพงศาวดารขึ้นทูลเกล้าฯถวาย
จึงเป็นเหตุให้ทราบตำแหน่งของวัดสบสวรรค์
ซึ่งยังคงพบเจดีย์แบบย่อไม้สิบสองสูงใหญ่ปรากฏตามที่ตั้งในปัจจุบันนี้
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงขนานนามเรียกชื่อเจดีย์ว่า "เจดีย์พระศรีสุริโยทัย"
ในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลได้มอบให้กรมศิลปากรและกรป.กลาง
ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเสริมรูปทรงพระเจดีย์ที่ชำรุดให้อยู่ในสภาพเดิมและจากการบูรณะ
ศิลปากรได้พบวัตถุโบราณ เช่น พระพุทธรูปผลึกแก้วสีขาวปางมารวิชัย
พระเจดีย์จำลอง ผอบทองคำบรรจุพระธาตุ เป็นต้น
ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
|