วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า
วัดพระแก้ว นั้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
แล้วเสร็จในปี พ.ศ.
๒๓๒๗ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง
ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ
สมัยอยุธยา
วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก
ทางทิศตะวันออก
มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ
เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง
และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา |
|
รัชกาลที่ ๑
โปรดเกล้าให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย
มาประดิษฐาน ณ ที่นี้
วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้
ภายหลังจากการสถาปนาแล้ว
ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชกาล
เพราะเป็นวัดสำคัญ
จึงมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ทุก ๕๐ ปี
คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลปัจจุบัน
เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ
๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่ผ่านมา
การบูรณปฏิสังขรณ์ที่ผ่านมา
มุ่งอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติ
ให้คงความงามและรักษาคุณค่าของช่างศิลปไทยไว้อย่างดีที่สุด
เพื่อให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้อยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดไป
พระอุโบสถ
สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑
เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ หลังคาลด ๔
ระดับ ๓ ซ้อน มีช่อฟ้า ๓ ชั้น
ปิดทองประดับกระจก
ตัวพระอุโบสถมีระเบียงเดินได้โดยรอบ
มีหลังคาเป็นพาไลคลุม
รับด้วยเสานางรายปิดทองประดับกระจกทั้งต้น
พนักระเบียงรับเสานางราย
ทำเป็นลูกฟักประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีอย่างจีน
ตัวพระอุโบสถมีฐานปัทม์รับอีกชั้นหนึ่ง
ประดับครุฑยุดนาคหล่อด้วยโลหะปิดทอง
มีเสารายเทียนหล่อด้วยทองแดงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน
ผนังพระอุโบสถ ในรัชกาลที่ ๑
เขียนลายรดน้ำบนพื้นชาดแดง รัชกาลที่
๓ โปรดเล้าฯ ให้ปั้นลายพุ่มข้าวบิณฑ์
ปิดทองประดับกระจก
เพื่อให้เข้ากับผนังมณฑป
ปิดทองประดับกระจก
บานพระทวารและพระบัญชรประดับมุกทั้งหมด
ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๑
ที่เชิงบันไดมีสิงห์หล่อด้วยสำริดบันไดละคู่
รวม ๑๒ ตัว
โดยได้แบบมาจากเขมรคู่หนึ่ง
แล้วหล่อเพิ่มอีก ๑๐ ตัว
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(พระแก้วมรกต)
พระพุทธรูปปางสมาธิ
ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์
หน้าตักกว้าง ๔๘.๓ ซม.
สูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร ๖๖ ซม.
ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
มีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องทรงถวายเป็นพุทธบูชา
สำหรับฤดูร้อนและฤดูฝน
เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน
เป็นเครื่องต้นประกอบด้วยมงกุฎพาหุรัด
ทองกร พระสังวาล เป็นทองลงยา
ประดับมณีต่างๆ
จอมมงกุฎประดับด้วยเพชร
เครื่องทรงสำหรับฤดูฝน เป็นทองคำ
เป็นกาบหุ้มองค์พระอย่างห่มดอง
จำหลักลายที่เรียกว่าลายพุ่มข้าวบิณฑ์
พระเศียรใช้ทองคำเป็นกาบหุ้ม
ตั้งแต่ไรพระศกถึงจอมเมาฬี
เม็ดพระศกลงยาสีน้ำเงินแก่
พระลักษมีทำเวียนทักษิณาวรรต
ประดับมณีและลงยาให้เข้ากับเม็ดพระศก
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสร้างเครื่องฤดูหนาวถวายอีกชุดหนึ่ง
ทำด้วยทองเป็นหลอดลงยาร้อยด้วยลวดทองเกลียว
ทำให้ไหวได้ตลอดเหมือนกับผ้า
ใช้คลุมทั้งสองพาหาขององค์พระ
บุษบกทองที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
สร้างด้วยไม้สลักหุ้มทองคำทั้งองค์
ฝังมณีมีค่าสีต่างๆ ทรวดทรงงดงามมาก
เป็นฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑
เดิมบุษบกนี้ตั้งอยู่บนฐานชุกชี
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า
ฯ
ให้สร้างพระเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ
สลักลายวิจิตรหนุนองค์บุษบกให้สูงขึ้น
บนฐานชุกชีด้านหน้า
ประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณี
เป็นพระพุทธรูปที่คิดแบบขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่
๔ โดยไม่มีเมฬี
มีรัศมีอยู่กลางพระเศียร
จีวรที่ห่มคลุมองค์พระเป็นริ้ว
พระกรรณเป็นแบบหูมนุษย์ธรรมดาโดยทั่วไป
หน้าฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์รัชกาลที่
๑ และรัชกาลที่ ๒
องค์ด้านเหนือพระนามว่า
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
องค์ด้านใต้พระนามว่า
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์สูง ๓ เมตร
ทรงเครื่องแบบจักรพรรดิ์หุ้มทองคำ
เครื่องทรงเป็นทองคำลงยาสีประดับมณี
หนังสืออ้างอิง :
นำชมกรุงรัตนโกสินทร์
(เนื่องในงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์
๒๐๐ ปี) โดย กองโบราณคดี กรมศิลปากร
พ.ศ. ๒๕๒๕
|