กรุงเทพฯ หรือ บางกอก
เมืองหลวงของประเทศไทยเริ่มก่อตั้งภายหลังจากที่
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงครองราชย์ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์
เมื่อวันเสาร์ ที่ 6 เมษายน เดือนห้า แรม 9 ค่ำ ปีขาล พ.ศ. 2325
พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังทางคุ้งแม่น้ำ เจ้าพระยาฟากตะวันออก
เนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดีกว่ากรุงธนบุรี
เพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวคูเมืองทางด้านตะวันตก และด้านใต้
อาณาเขตของกรุงเทพฯ
ในขั้นแรกถือเอาแนวคูเมืองเดิมฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี คือ
แนวคลองหลอด
ตั้งแต่ปากคลองตลาดจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า
เป็นบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ มีพื้นที่ประมาณ 1.8 ตร.กม.
บริเวณที่สร้างพระราชวังนั้นเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชเศรษฐี
และชาวจีน ซึ่งได้ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง
ในการก่อสร้างพระราชวังโปรดเกล้าฯ
ให้พระยาธรรมาธิบดีกับพระยาวิจิตรนาวีเป็นแม่กองคุมการก่อสร้าง
ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ
ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที (21 เมษายน 2325) |
|
พระราชวังแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2328
จึงได้จัดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบแผน รวมทั้งงานฉลองพระนคร
โดยพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา
มหาดิลกภพ นพรัตน์ ราชธานีบุรีรมย์
อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์"
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยน คำว่า
"บวรรัตนโกสินทร์" เป็น "อมรรัตนโกสินทร์" และในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร
เป็นนายกรัฐมนตรีได้รวมจังหวัดธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันกับกรุงเทพฯ
แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "กรุงเทพมหานคร" เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม
|