กู่พระโกนา, ร้อยเอ็ด
ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ วัดกู่พระโกนา หมู่ 2 ตำบลสระคู การเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ด
เดินทางตามทางหลวงสาย 215 ผ่านอำเภอเมืองสรวง
อำเภอสุวรรณภูมิ
จากนั้นเข้าสาย 214 ไปประมาณ 12 กม.ถึงกู่พระโกนา ระยะทางประมาณ 60
กม.จากจังหวัด ปัจจุบันมีวัดสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกัน
มีถนนเป็นทางแยกเข้าไปทางด้านซ้ายมือ ด้านหน้าเป็นสวนยาง กู่พระโกนา ประกอบด้วย
ปรางค์อิฐ 3 องค์ บนฐานศิลาทราย เรียงจากเหนือ-ใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
มีกำแพงล้อมและซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทรายเช่นกัน
ปรางค์องค์กลางถูกดัดแปลงเมื่อ พ.ศ. 2417
โดยการฉาบปูนทับและก่อขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีซุ้มพระทั้ง 4 ทิศ
หน้าปรางค์องค์กลางชั้นล่างสร้างเป็นวิหารพระพุทธบาทประดับเศียรนาค 6
เศียรของเดิมไว้ด้านหน้า ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ ก็ได้รับการบูรณะจากทางวัดเช่นกัน
แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนรูปทรงอย่างปรางค์องค์กลาง
ปรางค์องค์ทิศเหนือทางวัดสร้างศาลาครอบ ภายในมีหน้าบันสลักเรื่องรามายณะ
และทับหลังสลักภาพ พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ติดอยู่ที่เดิม คือเหนือประตูทางด้านหน้า
ส่วนทับหลังประตูด้านทิศตะวันตก หล่นอยู่บนพื้นเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ
ปรางค์องค์ทิศใต้ยังคงมีทับหลังของเดิมเหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือเป็นภาพเทวดานั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล
นอกจากนี้ทางด้านหน้ายังมีทับหลังหล่นอยู่ที่พื้น
เป็นภาพพระอิศวรประทับนั่งบนหลังโค และมีเสานางเรียงวางอยู่ด้วย
สันนิษฐานว่า
กู่พระโกนาเดิมจะมีสะพานนาคและทางเดิประดับเสานางเรียงทอดต่อไปจากซุ้มประตูหน้าไปยังสระน้ำ
หรือบารายซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร
จากรูปแบบลักษณะทางศิลปกรรมทั้งหมดของภาพสลัก และเสากรอบประตู
ซึ่งเป็นศิลปะขอมที่มีอายุในราว พ.ศ. 1560-1630 (แบบบาปวน)
สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16
|