อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ
อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เป็นอนุสาวรีย์แห่งเดียวในจังหวัดหนองคาย
เป็นอนุสาวรีย์เทิดทูนความดีของผู้ล่วงลับไปแล้ว ในการปราบฮ่อ ในปี ร.ศ.
105 (พ.ศ. 2429) เสด็จในกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
รับสั่งให้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่เมืองหนองคาย
เพื่อบรรจุอัฐิของผู้ที่เสียชีวิต
ในการปราบฮ่อ เดิมตั้งอยู่ที่หลังสถานีตำรวจภูธร
จังหวัดหนองคาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2492
ทางจังหวัดหนองคายได้รับงบประมาณให้เสริมสร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อให้สง่างามสมกับเป็นอนุสาวรีย์ของผู้ที่ได้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองให้เป็นศรีสง่าแก่เมืองหนองคายสืบไป
จึงย้ายมาสร้างใหม่ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด
มีคำจารึกที่อนุสาวรีย์ทั้ง 4 ทิศ ทั้งภาษาไทย จีน ลาวและอังกฤษ
ทางจังหวัดได้กำหนดให้มีการจัดงานบวงสรวงและฉลองอนุสาวรีย์เป็นประจำทุกวันที่
5 มีนาคม ของทุกปี
หลวงพ่อพระใส
เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย
หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณะงดงามมาก
ขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว
ส่วนสูงจากองค์พระเบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว
ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นพระอารามหลวง
ตั้งอยู่ที่ถนนโพธิ์ชัย ในเขตเทศบาลเมือง
เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
ชาวเมืองหนองคายนับถือมาก
มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยหลายตอน
เสด็จในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือประวัติพระพุทธรูปสำคัญซึ่งพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน
พ.ศ. 2468 ว่า หลวงพ่อพระใส
เป็นพระพุทธรูปหล่อในประเทศล้านช้าง
และตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระธิดา 3 องค์
แห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้สร้าง
บางท่านก็ว่าเป็นพระราชธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช
ได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์
และขนานนามพระพุทธรูปตามนามของตนเองไว้ด้วยว่า
พระเสริมประจำพี่ใหญ่ พระสุกประจำคนกลาง
พระใสประจำน้องสุดท้อง มีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ
พ.ศ. 2321
พระเจ้าธรรมเทววงศ์ได้อัญเชิญไปไว้ ณ เวียงจันทน์
และในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้อัญเชิญมาฝั่งไทย แต่เกิดพายุ
พระสุกจมน้ำอยู่ที่ปากงึ่ม (เวินพระสุก)
ส่วนพระเสริมและพระใส
ประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัยและวัดหอกล่อง
ต่อมาในรัชกาลที่ 4
ได้อัญเชิญพระเสริมลงมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ
ส่วนพระใสประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย
ทุกปีในวันเพ็ญกลางเดือน 7
ชาวเมืองหนองคายจะมีงานประเพณีบุญบั้งไฟบูชาพระใสที่วัดโพธิ์ชัยเป็นประจำ
การเดินทางจากตัวเมืองหนองคาย
ใช้เส้นทาง 212 (ไปทางอ.โพนพิสัย)
อยู่บริเวณหลักก.ม.ที่ 2
|
|
พระธาตุบังพวน
พระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุบังพวน
บ้านดอนหมู ตำบลพระธาตุบังพวน ห่างจากอำเภอเมืองหนองคาย ประมาณ
21 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2 (หนองคาย-อุดรธานี) ประมาณ 11
กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-ท่าบ่อ)
ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 10 วัดจะอยู่ด้านขวามือริมทาง
เดิมพระธาตุบังพวนเป็นเจดีย์เก่าแก่
เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคายมาช้านานตัวองค์พระธาตุเดิมเป็นเจดีย์สร้างด้วยอิฐเผา
มีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ลักษณะเจดีย์
เป็นรูปสถูปแบบอินเดียรุ่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์
เจดีย์องค์ปัจจุบันบูรณะขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากรในระหว่างปี พ.ศ. 2519-2521
หลังจากที่องค์เดิมได้พังทลายลงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2513
เนื่องจากฐานทรุด พระธาตุองค์ปัจจุบันมีฐานทักษิณ 5 ชั้น กว้าง 17.20 เมตร
สูงถึงยอดฉัตร 34.25 เมตร รูปปรางค์สี่เหลี่ยมต่อกันเป็นบัวปากระฆังชั้นที่
6 เป็นรูประฆังคว่ำ ชั้นที่ 7 เป็นรูปดาวปลี
และเหนือชั้นไปเป็นที่ตั้งฉัตรและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้
นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีสถานที่สำคัญคือ
พิพิธภัณฑ์พระธาตุบังพวน
ซึ่งเป็นห้องเล็กๆ อยู่ใกล้กับองค์พระธาตุ
ซึ่งภายในจะเก็บซากเศษหิน ใบเสมา ศิลาจารึก
ตลอดจนโบราณวัตถุของพระธาตุองค์เก่า รวมทั้งประวัติขององค์พระธาตุ
สระพญานาค
อยู่ในบริเวณใกล้ๆ องค์พระธาตุ
ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อมีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นเจ้าเมือง
ก็จะนำน้ำจากสระนี้ไปสรงเพื่อเป็นสิริมงคล
ในสมัยต่อมาสระพญานาคก็ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา
จนกระทั่งชาวบ้านและประชาชนที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันบริจาคและทำการบูรณะสระพญานาคเพื่อใช้น้ำในสระนี้นำไปประกอบพิธีมงคลต่างๆ
เพื่อความเป็นสิริมงคล
ทุกปีชาวจังหวัดหนองคายจะจัดงานนมัสการพระธาตุบังพวนขึ้นในเดือนยี่ ขึ้น 11
ค่ำ
ท่าเสด็จ
อยู่ในเขตเทศบาลเมือง
เป็นท่าเรือโดยสารข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งลาว
มีด่านตรวจคนเข้าเมืองและร้านค้าจำหน่ายสินค้าจากนานาประเทศที่ส่งผ่านเข้ามาจากฝั่งลาว
สินค้าที่จำหน่ายได้แก่ เครื่องไม้ฝังมุก เครื่องไฟฟ้า นาฬิกา อาหาร ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีบริษัททัวร์ที่รับจ้างทำใบผ่านแดนและนำเที่ยวประเทศลาวอีกด้วย
ชาวไทยจะต้องทำบัตรผ่านแดนที่สำนักงานบัตรผ่านแดน
บริเวณศาลากลางจังหวัดหนองคาย โดยมีเอกสารประกอบการทำบัตรผ่านแดน
คือสำเนาบัตรประชาชนหน้าหลัง รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป
รายละเอียดสอบถามเพิ่มเติม โทร.(042)411778 โทรสาร (042)412678
ชาวต่างประเทศ จะต้องใช้หนังสือเดินทาง Passport
และขอวีซ่าที่สถานทูตลาวประจำประเทศไทย
หาดจอมมณี
ตั้งอยู่ที่บ้านจอมมณี หมู่ที่ 1 ตำบลมีชัย
ห่างจากเขตเทศบาลเมืองประมาณ 2 กม. เป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำโขง
หาดแห่งนี้จะมีความยาวประมาณ 200 เมตร
และจะปรากฏให้เห็นตอนน้ำลดในฤดูแล้ง โดยเฉพาะเดือนเมษายน
จะมีนักท่องเที่ยวในจังหวัดและจากบริเวณจังหวัดใกล้เคียงเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นจำนวนมาก
ได้รับการเรียกขานว่าเป็น "พัทยาอีสาน"
อีกทั้งทิวทัศน์ในบริเวณหาดทรายยังสามารถมองเห็นบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
ได้อย่างชัดเจน
พระธาตุหนองคาย
อยู่ในบ้านวัดธาตุ
เขตเทศบาลเมืองหนองคายตามประวัติที่ค้นพบ พบว่าในปีมะเมีย
เดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ พ.ศ.2390
ใกล้ค่ำพระธาตุหนองคายได้พังลงแม่น้ำโขง
และตลิ่งอันเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุถูกน้ำเซาะพังลงจนมองเห็นองค์พระธาตุเกือบอยู่กึ่งกลางลำแม่น้ำโขง
สะพานมิตรกาพไทย-ลาว
ตั้งอยู่ซอย 1-2 บ้านจอมมณี ตำบลมีชัย
เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงไปยังท่านาแล้ง
แขวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว
เป็นสะพานแห่งแรกที่สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ
ออสเตรเลีย ลาว และประเทศไทย
นับว่าเป็นสะพานที่สร้างความสัมพันธ์ไทย-ลาว
ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม
และวัฒนธรรม
นอกจากนี้แล้วยังเป็นจุดชมวิวแม่น้ำโขงที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
คาดว่าจะเสร็จในปี พ.ศ. 2537 ช่วงตัวสะพานมีความยาว 1.20 กม.
กว้าง 15 เมตรมีช่องสำหรับเดินรถ 2 ช่องทาง
ซึ่งตรงช่วงกลางสะพานออกแบบไว้สำหรับสร้างทางรถไฟ
การนำรถออกจากด่านไทย ต้องทำเอกสารนำรถออก
เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด สอบถามรายละเอียด โทร. (042) 412482
|