ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน
ตั้งอยู่ในบริเวณสถาบันราชภัฏมหาสารคาม
ภาพแสดงความเป็นมาของศิลปะอีสานตลอดจนศิลปหัตถกรรม เช่น การทอผ้า
ลายผ้าต่างๆ นอกจากนั้นก็มีวรรณคดีอีสานประเภทใบลานซึ่งหาชมได้ยาก
นอกจากนั้นยังมี ภาพสไลด์ เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีของชาวอีสานให้ชมด้วย
พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย
ตั้งอยู่ในตัวเมืองมหาสารคาม
เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุของภาคอีสาน เช่น ใบเสมาหิน
พระพุทธรูปในสมัยโบราณ บานประตู คันทวยแกะสลักอายุประมาณ 100-200 ปี
นอกจากนี้ยังเป็นที่เก็บรวบรวมวรรณคดีภาคอีสาน และพระธรรม ใบลาน
อยู่เป็นจำนวนมาก
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
มศว.มหาสารคาม
ได้จัดนิทรรศการแบบถาวรไว้ให้ชม เปิดให้ชมในวันและเวลาราชการ
และวันเสาร์เปิดครึ่งวัน ปิดวันอาทิตย์ (หากติดต่อล่วงหน้าสถาบันฯ
ก็ยินดีเปิดให้ชมเป็นพิเศษ)ผู้เข้าชมจะได้ความรู้เกี่ยวกับ
ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ความเป็นมาของการทอผ้า
การประยุกต์ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมือง เครื่องจักสานและงานไม้ งานหล่อโลหะ
การพัฒนาเครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือจับสัตว์
เครื่องดนตรี วรรณกรรม จารึกภาษาโบราณ รวมทั้งผลงานศิลปะร่วมสมัยของนิสิต
นักศึกษา
แก่งเลิงจาน
เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
ภายในบริเวณเป็นที่ตั้งของสถานีประมง
ทำการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดให้หลายจังหวัดในภาคอีสาน
อยู่ด้านหลังของสถาบันราชภัฏมหาสารคาม ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กม.
บริเวณโดยรอบของแก่งเลิงจานมีทิวทัศน์สวยงาม
ในวันหยุดประชาชนนิยมไปพักผ่อนกันมาก
หมู่บ้านปั้นหม้อ
ตั้งอยู่ที่ตำบลเขวา
ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงสายมหาสารคาม-ร้อยเอ็ด (208) ประมาณ 4 กม
และแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 2 กม. เป็นหมู่บ้านใหญ่ประมาณ 100 หลังคาเรือน
ทุกบ้านมีอาชีพปั้นหม้อดินเผา ซึ่งชาวอีสานใช้เป็นหม้อน้ำ หม้อแกง
กรรมวิธีทำยังเป็นแบบโบราณดั้งเดิม
กู่มหาธาตุ
(ปรางค์กู่บ้านเขวา)
ตั้งอยู่ที่บ้านเขวา ตำบลเขวา อำเภอเมือง
ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนแจ้งสนิท 13 กม.
เป็นโบราณสถานที่มีอายุก่อสร้างในประมาณพุทธศตวรรษที่ 18
ทำด้วยศิลาแลงเป็นรูปกระโจมสี่เหลี่ยมสูงจากพื้นดินถึงยอด 4 วา กว้าง 2 วา
2 ศอก ภายในปราสาทมีเทวรูปทำด้วยดินเผา 2 องค์ นั่งขัดสมาธิ ประนมมือ
ถือสังข์ มีกำแพงทำด้วยศิลาแลงล้อมรอบ
โคปุระอยู่แนวด้านทิศตะวันออกเป็นทางเข้าออกภายในกำแพงเพียงด้านเดียว
บรรณาลัยอยู่ภายในกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
มีทางเข้าในปรางค์ประธานเพียงด้านเดียว คือ ทิศตะวันออก ส่วนอีก 3 ด้าน
เป็นประตูหลอก กรอบประตูและทับหลังเป็นหินทราย
กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งเรียบร้อยแล้ว
พิพิธภัณฑ์บ้านเชียงเหียน
ห่างจากตัวจังหวัดมหาสารคาม 7 กม.
ไปตามเส้นทางมหาสารคาม-ร้อยเอ็ด ชมเมืองโบราณบ้านเชียงเหียน
ตำนานเมืองเชียงเหียนหนองหาน ฟ้าแดดสูงยาง
ตลอดจนชมผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านด้วย
วนอุทยานชีหลง
อยู่ที่บ้านวังหว้า ห่างจากตัวเมือง 10
กิโลเมตร ตามเส้นทางไปอำเภอโกสุมพิสัย สภาพพื้นที่บริเวณ
วนอุทยานเป็นเกาะซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนเส้นทางน้ำของแมร่น้ำชี
ซึ่งแต่เดิมลำน้ำชีไหลเวียนอ้อมพื้นที่บริเวณนี้ไปทางทิศเหนือและไหลวกกลับมาทางทิศใต้
ต่อมาสายน้ำได้ไหลกัดเซาะบริเวณ
คอคอดจนขาดทำให้เกิดเส้นทางน้ำสายใหม่ส่วนเส้นทางน้ำสายเดิมที่มีลักษณะโค้งถูกแยกขาด
ทำให้เกิดพื้นที่ตอนกลางมีลักษณะเป็นเกาะบนเกาะมีถนนตัดโดยรอบเต็มไปด้วยต้นยางขนาดใหญ่บรรยากาศร่มรื่น
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ตั้งอยู่ถนนหน้าโรงเรียนหลักเมืองมหาสารคาม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2408
เมื่อท้าวมหาชัย เจ้าเมือง
มหาสารคามคนแรกได้รวบรวมไพร่พลจากร้อยเอ็ดมาตั้งเมืองใหม่ได้สร้างหลักเมืองและอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมาประทับเพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมืองนับเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ชาวจังหวัดมหาสารคามให้ความเคารพนับถือกันมาก
|