ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา
ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมือง บริเวณกลุ่มวัดในเขต อโยธยา
เดินทางโดยรถยนต์ตามเส้นทางถนนจากวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้มไปทางทิศเหนือ
ผ่านวัดกุฏีดาว และวัดจักรวรรดิ เลี้ยวทางซ้ายมือแรก
เข้าไปประมาณ 300 เมตร ตัววัดอยู่ทางขวามือ
เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา
แต่ไม่พบหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด และใครเป็นผู้สร้าง
เพียงถูกกล่าวในพงศาวดารปี 2163 ความว่าในคราวที่พระภิกษุสงฆ์ของวัดประดู่แปดรูป
ได้ช่วยเหลือพระเจ้าทรงธรรมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาหลบหนีจากการก่อกบฏของพวกญี่ปุ่นที่หมายปลงพระชนม์ชีพ
ครั้งฝ่ายมหาอำมาตย์พอคุมพลได้ก็ไล่รบญี่ปุ่นล้มตายและแตกไปจากพระราชวัง
ต่อมาพระมหาอำมาตย์มีความชอบดังนี้จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์
(ต่อมาได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าปราสาททอง)
นอกจากนี้ยังมี การกล่าวถึงในคราวที่พระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร
หรือที่เรียกกันว่า "ขุนหลวงหาวัด"
ทรงผนวชและพำนักที่วัดประดู่ทรงธรรมนี้เป็นวันสุดท้าย ก่อนถูกกวาดต้อนไปอังวะภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี
พ.ศ. 2310
จากผลสงครามได้ส่งผลให้วัดประดู่เป็นวัดร้างจนกระทั่งหลวงพ่อรอดเสือได้มาปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพเป็นวัดและมีพระสงฆ์จำพรรษาเจริญมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน
สถานที่สำคัญภายในวัด
คือพระอุโบสถสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการบูรณะใหม่ในราวสมัยรัชกาลที่
4 (จากคำบอกเล่าของพระภิกษุท่านหนึ่งของวัด)
มีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวทศชาติชาดกพุทธประวัติภาพขบวนเสด็จทางสถลมารควิถีชีวิตและการละเล่นของคนไทยในสมัยก่อน
ปัจจุบันวัดประดู่ทรงธรรมเป็นแหล่งศิลปศาสตร์พุทธศาสตร์หลายแขนง
โดยเฉพาะมนต์คาถาการตีเหล็กของหลวงพ่อเลื่องและหลวงพ่อรอดเสือพระเถระเจ้าอาวาส
ในสมัยก่อน นอกจากนี้ภายในวัดประดู่ฯ
ยังมีพันธุ์ไม้โบราณขนาดใหญ่นานาชนิดขึ้นอยู่รอบวัดพาให้ร่มรื่นแก่ผู้มาเยือน |