|
(อำเภอบ้านผือ), อุดรธานี
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่
ในเขตบ้านติ้วตำบลเมืองพาน อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทางประมาณ 67 กม.
ตามเส้นทางหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) บริเวณหลักกม.ที่ 13
แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทางประมาณ 42
กม.แยกขวาประมาณ 500 เมตร และตรงไปตามเส้นทางหมายเลข 2348 อีกประมาณ 12 กม.
มีแยกขวาเป็นทางเข้าไปประมาณ 2 กม. ภายในบริเวณอุทยานฯ
ทางด้านขวามือเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สำหรับผู้ที่สนใจ
สามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลของอุทยานฯรวมทั้งแผนที่และเส้นทางเพื่อความสะดวกในการเที่ยวชม
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเปิดบริการเวลา 08.00-16.30 น.ค่าเข้าชม ชาวไทย
10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนี้เป็นที่ตั้งของสถานที่ซึ่งแสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์
และการ
เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติ
ทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างต่างๆ กัน ปรากฏเป็นหลักฐานเกี่ยวกับ
ชีวิตผู้คนในอดีตที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ
พระพุทธบาทบัวบก
ตั้งอยู่บริเวณทางแยกซ้ายมือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.
2463-2477 ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ คำว่า "บัวบก"
เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดตามป่า มีหัวและใบคล้ายใบบัว
ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ผักหนอก
บัวบกนี้คงจะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาทจึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า
"พระพุทธบาทบัวบก" หรือคำว่าบัวบกอาจจะมาจากคำว่า บ่บกซึ่งหมายถึง
ไม่แห้งแล้ง รอยพระพุทธบาทมีลักษณะเป็นแอ่งลึกประมาณ 60 เซนติเมตร
ลงไปในพื้นหินยาว 1.93 เมตรกว้าง 90 เซนติเมตร
เดิมมีการก่อมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2465
พระอาจารย์ศรีทัตย์ สุวรรณมาโจ
ได้รื้อมณฑปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่
และยังสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองวางทับรอยพระพุทธบาทเดิมไว้
ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม ทุกๆ ปีในช่วงเดือน
3 ขึ้น 13-15 ค่ำ จะมีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบก
พระพุทธบาทหลังเต่า
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระพุทธบาทบัวบก
มีลักษณะเป็นรอยพระบาทสลักลึกลงไปในพื้นหินลึกประมาณ 25 เซนติเมตร
ใจกลางพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัว กลีบแหลมนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด
และเนื่องจากพระพุทธบาทแห่งงนี้อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่า
จึงได้ชื่อว่า "พระพุทธบาทหลังเต่า"
ถ้ำและเพิงหินต่าง ๆ
ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณอุทยานฯ แห่งนี้
นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ในระยะทางไม่ไกลนัก ได้แก่ ถ้ำลายมือ
ถ้ำโนนสาวเอ้ ถ้ำคน ถ้ำวัวแดง
(ซึ่งถ้ำเหล่านี้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่พำนักของมนุษย์สมัยหิน
และมนุษย์เหล่านั้นได้เขียนรูปต่างๆ ไว้ เช่น รูปคน รูปมือ รูปสัตว์
และรูปรายเลขาคณิต) นอกจากนั้นยังมีลานหินที่สวยงาม คือ
ลานหินโนนสาวเอ้ ธรรมชาติได้สร้างเพิงหินต่างๆ ไว้
ทำให้มนุษย์รุ่นหลังๆ ได้จินตนาการผูกเป็นเรื่องตำนานพื้นบ้าน คือ
เรื่อง "นางอุสา-ท้าวบารส" เพิงหินที่สวยงามเหล่านี้ ได้แก่
คอกม้าท้าวบารส หอนางอุสา บ่อน้ำนางอุสา
นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนหลักเสมาและหินทรายจำหลัก
พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ที่เพิงหิน วัดพ่อตาและเพิงหินวัดลูกเขย
พระพุทธบาทบัวบาน
ตั้งอยู่บนเนินเขาในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองอันเก่าแก่และมีการขุดค้นพบใบเสมาที่ทำด้วยหินเป็นจำนวนมาก
ใบเสมาเหล่านี้สลักเป็นรูปบุคคลศิลปะทวาราวดี
|
|
|
|
|
|