ปรางค์กู่ หรือปราสาทหนองกู่
ตั้งอยู่ที่บ้านยางกู่ ตำบลมะอี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
การเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ด ตามทางหลวงสาย 23 หรือสายร้อยเอ็ด-ยโสธร ประมาณ 10
กม. ถึงที่ว่าการอำเภอธวัชบุรี ฝั่งตรงข้าม มีทางลูกรังแยกซ้ายไปปรางค์กู่ ระยะทาง
6 กม. หรือใช้เส้นทางร้อยเอ็ด-โพนทอง ทางหลวงสาย 2044 ไปประมาณ 8 กม.
มีทางแยกขวาไปปรางค์กู่อีก 1 กม. (เส้นทางนี้สะดวกกว่าเส้นทางแรก)
ปรางค์กู่
คือ
กลุ่มอาคารที่มีลักษณะแบบเดียวกันกับอาคารที่เชื่อกันว่า
คืออโรคยาศาลตามที่ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหมอันประกอบด้วย ปรางค์ประธาน บรรณาลัย
กำแพงพร้อมซุ้มประตูและสระน้ำนอกกำแพง โดยทั่วไปนับว่าคงสภาพเดิมพอควร
โดยเฉพาะปรางค์ประธานชั้นหลังคาคงเหลือ 3 ชั้น และมีฐานบัวยอดปรางค์อยู่ตอนบน
อาคารอื่นๆ แม้หักพังแต่ทางวัดก็ได้จัดบริเวณให้ดูร่มรื่นสะอาดตา
นอกจากนี้ภายในกำแพงด้านหน้าที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังพบโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นวางเก็บรักษาไว้ใต้อาคารไม้
ได้แก่ทับหลังหินทราย สลักเป็นภาพบุคคลนั่งบนหลังช้างหรือวัว
ภายในซุ้มเรือนแก้วหน้ากาล จากการสอบถามเจ้าอาวาสวัดศรีรัตนาราม
กล่าวว่าเป็นทับหลังหน้าประตูมุขของปรางค์ประธาน เสากรอบประตู 2 ชิ้น
ชิ้นหนึ่งมีภาพสลักรูปฤาษีที่โคนเสาศิวลึงค์ขนาดใหญ่พร้อมฐานที่ได้จากทุ่งนาด้านนอกออกไป
และชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นฐานของพระสังกัจจายน์ปูนปั้น
กำหนดอายุว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18
บ้านหวายหลึม
ตั้งอยู่ที่ตำบลมะบ้า อำเภอธวัชบุรี บนเส้นทางสายร้อยเอ็ด-ยโสธร ตรงหลักกม.ที่
145-146 ห่างจากตัวเมืองร้อยเอ็ด 25 กม. เป็นหมู่บ้านทอผ้าไหม มีการจัดตั้ง
"กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต" เป็นศูนย์รวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์
ตั้งอยู่ที่บ้านคุณอำพร ทองธิสาร 84 หมู่ 6 ซอย 1 บ้านหวายหลึม ตำบลมะบ้า
อำเภอธวัชบุรี
|