ภูทอก
ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว
เป็นที่ตั้งของวัดเจติยาศรีวิหาร (วัดภูทอก) อยู่ในอาณาเขตบ้านคำแคน
ตำบลนาสะแบง ภูทอกมี 2 ลูกคือ ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย
แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย
พระอาจารย์จวนกุลเชษโฐ ได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบ
การขึ้นภูทอกนั้นเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปในปี
พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม
บันไดทั้ง 7 ชั้น แตกต่างกันดังนี้
- ชั้นที่ 1-2 เป็นบันไดสู่ชั้นที่ 3
ซึ่งเริ่มเป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินลานหิน
สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง ทางซ้ายมือเป็นทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5
ได้เลย ซึ่งเป็นทางชันมาก ผ่านหลืบหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์
ทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4
- ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา
มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกัน เรียกว่า "ดงชมพู"
ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบ
มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่
โดยเฉพาะมีฝูงกามาอาศัยอยู่มาก จึงเรียกกันว่า ภูรังกา
แล้วเพี้ยนมาเป็นภูลังกาในที่สุด บนชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี
รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักผ่อนระหว่างทางเป็นระยะๆ
- ชั้นที่ 5 หรือชั้นกลาง
มีศาลากลางและกุฏิที่อาศัยของพระ
และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนไว้ด้วย
ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี
ฯลฯ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างอยู่ราว 20 แห่ง
มีหน้าผาชื่อต่างๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต ฯลฯ
ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พระวิหาร
อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย
มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน
และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6
เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขามีความยาว 400 เมตร สุดทางที่ชั้น 7
อันเป็นป่าไม้ร่มครึ้มสวยงาม
การเดินทางสู่ภูทอก
จากตัวเมืองหนองคาย ใช้เส้นทาง 212 ผ่านอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอปากคาด
และอำเภอบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล
ระยะทางประมาณ 160 กม. จากหน้าที่ทำการอำเภอต้องเข้ารถเข้าไปอีกประมาณ
20 กม. ระหว่างทางจะมีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ แยกเข้าตรงบ้านศรีวิไล
สู่บ้านนาคำแคนและเข้าสู่ภูทอก
|