อุทยานแห่งชาติภูเรือ
มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอภูเรือและอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย
อาณาเขตด้านทิศเหนืออยู่ติดกับประเทศลาว
รูปพรรณสันฐานของภูเรือมีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือใหญ่บนยอดดอยสูงเป็นภูผาสีสันสะดุดตาหินบางก้อนมีลักษณะเหมือนถูกปั้นแต่งไว้
ชาวบ้านเรียกว่า “กว้านสมอ” โดยรอบๆ
จะเห็นยอดดอยเป็นขุนเขาน้อยใหญ่ใกล้เคียงเป็นฝ้าขาวด้วยละอองน้ำ
หมอก ปกคลุมไว้ท่ามกลางป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ
120.84 ตารางกิโลเมตร
ในปี พ.ศ. 2519 อธิบดีกรมป่าไม้
เดินทางมาราชการที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง นายสุจินต์ เพชรดี
ปลัดจังหวัดเลย ได้ให้ความเห็นว่า
ควรส่งเสริมป่าภูเรือให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด
จากนั้นจังหวัดเลยจึงให้ทางอำเภอภูเรือสำรวจพื้นที่ป่าภูเรือ
ซึ่งอำเภอภูเรือได้รายงานถึงจังหวัดเลยว่า
พื้นที่ป่าภูเรือมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามสำคัญหลายแห่ง
เช่น ป่าไม้ น้ำตก ทิวทัศน์
เหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ กองอุทยานแห่งชาติ
กรมป่าไม้
จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นของป่าภูเรือ
ท้องที่อำเภอภูเรือและอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ปรากฏว่า
ป่าแห่งนี้อยู่ในเขตป่าหมายเลข 23 ตามมติคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506
ให้รักษาไว้ให้เป็นป่าถาวรของชาติ
พื้นที่ป่าภูเรือประกอบด้วยทิวเขาสูง
สลับซับซ้อนเรียงรายเป็นรูปต่างๆ
น่าพิศวงสลับกับที่ราบเป็นบางส่วน สาเหตุที่ขนานนามว่า
“ภูเรือ”
เพราะมีภูเขาลูกหนึ่งมีชะโงกผายื่นออกมาดูคล้ายสำเภาใหญ่
และที่ราบบนยอดเขามีลักษณะคล้ายท้องเรือตลอดจนมีธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงาม
เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้
ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ
ซึ่งมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521
เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ
โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูเรือ
ในท้องที่ตำบลอาชี ตำบลท่าลี่ อำเภอท่าลี่ และตำบลลาดค่าง
ตำบลหนองบัว ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96
ตอนที่ 124 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2522
นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 16 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติภูเรือ
มีลักษณะภูมิประเทศเป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อนประกอบด้วย
เขาหินทรายเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นเป็นหินแกรนิตสลับกันไป
ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้มีที่ราบสูงสลับกับ ยอดเขาสูงทั่วไป
มียอดเขาสูงที่สุดคือ ยอดภูเรือ มีความสูงถึง 1,365
เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยังมียอดเขาที่สำคัญ คือ
ยอดเขาภูสัน มีความสูง 1,035 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
และยอดภูกุ มีความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ลักษณะเช่นนี้เองจึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญก่อให้เกิดลำธารหลายสาย
เช่น ห้วยน้ำด่าน ห้วยบง ห้วยเกียงนา ห้วยทรายขาว ห้วยติ้ว
และห้วยไผ่
ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกห้วยไผ่ที่สวยงามแห่งหนึ่ง
ลักษณะภูมิอากาศ
ด้วยอุทยานแห่งชาติภูเรืออยู่ที่จังหวัดเลย
ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดของประเทศไทย
และอยู่บนยอดเขาสูง จึงทำให้มีอากาศเย็นตลอดปี
โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะหนาวเย็นมาก
จนกระทั่งน้ำค้างบนยอดหญ้าจะแข็งตัวกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง
ซึ่งมีภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “แม่คะนิ้ง”
ผู้ที่จะไปพักผ่อนควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะผจญกับความหนาวเย็น
พืชพรรณและสัตว์ป่า
ภูเรือ มีสภาพป่าหลายชนิดปะปนกันอย่างสวยงาม ทั้งป่าเบญจพรรณ
ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ ป่าสนเขา โดยเฉพาะยอดภูเรือ
ประกอบด้วยป่าสนเขา สลับกับสวนหินธรรมชาติแซมด้วยพุ่มไม้เตี้ย
สลับด้วยทุ่งหญ้าเป็นระยะ ไม้พื้นล่างที่พบโดยทั่วไป ได้แก่
กุหลาบป่า มอส เฟิน และกล้วยไม้ที่สวยงาม เช่น ม้าวิ่ง สามปอย
ไอยเรศ เอื้องคำ เอื้องผึ้ง เอื้องเงิน
ซึ่งขึ้นตามต้นไม้และโขดหิน
กล้วยไม้เหล่านี้จะออกดอกบานสะพรั่งให้ชมสลับกันไปตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ ป่าภูเรือยังมีสัตว์ป่าที่ชุกชุมพอสมควร ที่พบบ่อย
เช่น หมี เก้ง กวางป่า หมูป่า หมาไน ลิง พญากระรอกดำ
ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ป่า และชุกชุมไปด้วยกระต่ายป่า เต่าเดือย
เต่าปูลูและนกชนิดต่างๆ ที่สวยงามอีกมากมาย
โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะอพยพมาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก |