เมื่อปี พ.ศ. 2530 สำนักงานป่าไม้เขตแพร่และจังหวัดแพร่
มีนโยบายจัดสวนหิน
ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย
ท้องที่ตำบลต้าผามอก อำเภอลอง จังหวัดแพร่
เป็นวนอุทยานสวนหินมหาราช
เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ
และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรมป่าไม้แล้ว
โดยให้ประสานงานกับกองอุทยานแห่งชาติ
และได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม
2532 ให้ดำเนินการสำรวจป่าห้วยขมิ้น
ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย ป่าห้วยเบี้ย-ห้วยบ่อทอง
และป่าแม่แย้-แม่สาง ท้องที่ตำบลต้าผามอก อำเภอลอง
ตำบลวังหงส์ ตำบลท่าข้าม ตำบลวังธง และตำบลป่าแมต
อำเภอเมือง ตำบลเวียงทอง ตำบลร่องกาด และตำบลบ้านปง
อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
กรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532
ให้นายประภาส อินทร์แก้ว
ไปสำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย
ป่าห้วยเบี้ย-ห้วยบ่อทอง และป่าแม่แย้-แม่สาง
ในท้องที่จังหวัดแพร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือที่ กษ
0713 (ผก) ลงวันที่ 19 มกราคม 2533 ว่า
ได้พิจารณาจากสภาพป่าบริเวณ
ดังกล่าวซึ่งมีเทือกเขาดอยผากลองเด่นเป็นเอกลักษณ์
เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และมีถ้ำ
ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักจึงเห็นสมควรใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติแห่งนี้ว่า
อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง
กองอุทยานแห่งชาติได้พิจารณาแล้ว
เห็นชอบด้วยตามที่อุทยานแห่งชาติเสนอขออนุมัติใช้ชื่อ
อุทยานแห่งชาติว่า อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง และนายประภาส
อินทร์แก้ว
เจ้าหน้าที่ผู้สำรวจได้รายงานส่วนอุทยานแห่งชาติตามหนังสืออุทยานแห่งชาติดอยผา
กลอง ด่วนที่สุด ที่ กษ 0712.3(ผก)/7 ลงวันที่ 13 มกราคม
2537 ว่า พื้นที่มีความเหมาะสมกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ
อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบ่อทอง ป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย
และป่าแม่แย้ ป่าแม่สาง ในท้องที่ตำบลท่าขาม ตำบลวังธง
ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ ตำบลผามอก อำเภอลอง
ตำบลเวียงทอง ตำบลร่องกาด ตำบลบ้านปง ตำบลสบสาย
อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เนื้อที่ประมาณ 125
ตารางกิโลเมตร หรือ 78,125 ไร่
โดยไม่มีราษฎรเข้าไปบุกรุกยึดถือครอบครองอยู่อาศัยเป็นหมู่บ้านถาวรแต่อย่างใด
ส่วนอุทยานแห่งชาติได้พิจารณาแล้ว
เห็นว่าสมควรกำหนดพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นอุทยาน
แห่งชาติ ตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ
พ.ศ. 2504
ซึ่งปัจจุบันกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน
บางแห่งเป็นที่ราบบนภูเขามีหินโผล่จากพื้นดินตามธรรมชาติ
และพื้นที่บางส่วนสำนักงานป่าไม้เขตแพร่
ได้ทำการปลูกป่าไม้สักเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า
บริเวณที่สำรวจเป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำยม
ซึ่งประกอบด้วยห้วยที่สำคัญคือ ห้วยขมิ้น ห้วยผาคำ
ห้วยเบี้ย ห้วยน้ำริน ห้วยแม่ต้า และห้วยแม่สาง
ลักษณะภูมิอากาศ
เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน
และมีพันธุ์ไม้นานาชนิด ฤดูหนาวจึงค่อนข้างหนาวจัด
อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 8-12 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อนไม่ร้อนจัดอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 30 องศาเซลเซียส
ฤดูฝนมีฝนตกชุก ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม
และจะสิ้นสุดเดือนตุลาคม
ยังไม่มีการเก็บข้อมูลทางด้านปริมาณน้ำฝน
เฉลี่ยในเขตพื้นที่สำรวจ
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าผลัดใบ แบ่งได้ 2
ประเภทคือ ป่าเบญจพรรณ เป็นป่าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมาก
พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้แดง
ไม้มะค่าโมง ไม้กระพี้เขาควาย ชิงชัน กระเจาะ กระพี้จั่น
ตะเคียนทอง ตะแบก โมกมัน และป่าเต็งรัง
พันธุ์ไม้ที่มักพบอยู่เสมอคือ เต็ง รัง เหียง พลวง กระโดน
ตะค้อ มะกอกป่า เป็นต้น
ส่วนสัตว์ป่าจากการสำรวจสภาพพื้นที่จริง
และสอบถามราษฎรในท้องถิ่นใกล้เคียง พบว่ามีสัตว์ป่า
อาศัยอยู่มากมาย ได้แก่ เลียงผา เก้ง กระจง หมูป่า ลิงลม
อีเห็น กระต่าย กระรอก กระแต ตุ่น หนู งู นกชนิดต่างๆ
และปลา
สวนหินมหาราช
เป็นบริเวณที่มีหินโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินตามธรรมชาติอย่างสลับซับซ้อนน่าอัศจรรย์
บ้างคล้ายจระเข้ ไดโนเสาร์ และสัตว์ดึกดำบรรพ์
มองแล้วทำให้เกิดจิตนาการเหมือนอยู่ในเทพนิยาย
บางก้อนเป็นถ้ำเล็กๆ ลึกเข้าไปข้างใน
หินก้อนใหญ่อยู่บนหินก้อนเล็ก
ดูน่าหวาดเสียวคล้ายจะหล่นแต่ก็สามารถทานน้ำหนักได้
ประกอบกับบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย
การเดินทางสะดวกเพราะอยู่ติดกับทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1023
ที่ กม. 25 จากจังหวัดแพร่-อำเภอลอง
กิจกรรม -ชมทิวทัศน์ - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
ถ้ำจันทร์ผา
เป็นถ้ำค้างคาวมีขนาดใหญ่พอสมควร มีมูลค้างคาวเป็นจำนวนมาก
อยู่ทางทิศเหนือ ของสวนหิน เป็นถ้ำหินงอกหินย้อยสวยงาม
กิจกรรม -เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
ภูเขาหินปะการัง
ภูหินปะการังหรือร่องหินแตก
เป็นกลุ่มของแผ่นหินที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน
อันเนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในอดีต
เมื่อผิวหินปูนถูกน้ำฝนกัดเซาเป็นเวลานาน
จึงเกิดเป็นร่องแหลมคม แลดูคล้ายปะการังในทะเล
และมีรูปทรงแตกต่างกันมากมาย
ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดเส้นทางและสะพานเดินชมหินปะการังไปจนถึงยอดเขา
ระหว่างทางมีพันธุ์ไม้ที่ขึ้นตามเขาหินปูนให้ชมหลายชนิด
เช่น จันทน์ผา กระบองเพชร ฯลฯ บริเวณเชิงภูเขาหินปะการังมี
ถ้ำผากลอง ซึ่งมีหินงอกหินย้อยสวยงาม
กิจกรรม -เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา - ชมทิวทัศน์ -
ชมพรรณไม้
แก่งหลวง
เป็นโขดหินกว้างกลางแม่น้ำยม
ในฤดูฝนน้ำหลากสายน้ำจะไหลปะทะแก่งจนเกิดเสียงดัง
ฝั่งตรงข้ามกับแก่งหลวง มีถ้ำเอราวัณ
ซึ่งมีโถงถ้ำใหญ่กว้างขวางและมีหินงอกหินย้อยงดงาม
บางก้อนมองดูคล้ายกับช้างเอราวัณ
สามารถติดต่อเรือจากบ้านแก่งหลวงข้ามไปเที่ยวชมถ้ำได้
แก่งหลวงตั้งอยู่ที่บ้านแก่งหลวง
มีทางแยกเข้ามาจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11
(เด่นชัย-ลำปาง) ไปประมาณ 8 กิโลเมตร
ก็จะถึงแก่งหลวงริมลำน้ำยม
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง
84 ถ.คุ้มเดิม ต.ในเวียง อ. เมืองแพร่ จ. แพร่ 54000
โทรศัพท์ 0 5450 1701
การเดินทาง
รถยนต์
จากจังหวัดแพร่ เดินทางโดยรถยนต์ทางหลวงจังหวัดหมายเลข
1023 สายแพร่-อำเภอลอง เดินทางตามถนนสายนี้ ระยะทาง 25
กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณสวนหินมหาราช
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์
มีพื้นที่กางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำ-ห้องสุขารวม ไว้ให้บริการ
ท่านสามารถนำเต็นท์มากางเอง
หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ
ซึ่งมีค่าบริการอยู่หลายอัตราขึ้นอยู่กับชนิด
ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ
รายละเอียดเกี่ยวกับที่พักเต็นท์ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ
มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว