งานประเพณีปอยส่างลอง (งานบวชลูกแก้ว)
เป็นประเพณีบวชสามเณรตามธรมมเนียมของชาวไทยใหญ่
เพื่อให้ลูกหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
และมีความเชื่อว่าจะได้รับบุญกุศลจากการบวชสามเณร
งานนี้จัดให้มีขึ้นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน
โดยชาวบ้านจะตกลงกันกำหนดวันนัดหมายให้ลูกหลานได้บวชเรียนพร้อมๆ กัน
มีการประดับประดาผู้ที่จะบวชด้วยเครื่องประดับมีค่าอย่างสวยงาม
และประกอบพิธีบวชตามวัดที่เจ้าภาพเป็นศรัทธา
งานประเพณีจองพารา (งานปอยเหลินสิบเอ็ด)
คือประเพณีส่วนหนึ่งในงานเทศกาลออกพรรษา จัดขึ้นทุกปี ประมาณ วันที่ 21
ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน ประเพณีนี้ถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับชาวแม่ฮ่องสอน
เมื่อเข้าเดือน 11 ระหว่างขึ้น 13 ถึง 14 ค่ำ
จะมีงานตลาดนัดขายของกันทั้งวันทั้งคืน
ประชาชนจะไปจับจ่ายซื้ออาหารและสิ่งของต่างๆ สำหรับไปทำบุญที่วัด ในวันขึ้น
15 ค่ำ พอรุ่งเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำ
จะมีการตักบาตรเทโวจากวัดพระธาตุดอยกองมูซึ่งตั้งอยู่บนยอดดอยกองมูลงมาสู่วัดม่วยต่อซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา
ทิวแถวของพระภิกษุ สามเณร และประชาชนนับร้อยนับพัน
จะเรียงรายอยู่สองข้างทางเดินลงจากวัดพระธาตุดอยกองมู
ตกตอนกลางคืนตามบ้านเรือนและวัดวาอารามต่าง ๆ จะมีการจุดประทีปแห่ง
"จองพารา" หรือ "ปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า"
ซึ่งตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามนอกจากนี้ยังมีการแสดงการละเล่นพื้นเมืองและมหรสพต่างๆ
และ "หลู่เตนเหง" หรือการแห่เทียนพันเล่มด้วย
ประเพณีลอยกระทง
ในวันขึ้น
15 ค่ำเดือนยี่ หรือทางเหนือเรียกว่า "ยี่เป็ง" จะมีงานประเพณีลอยกระทง
มีการประกวดกระทงใหญ่ที่หนองจองคำ ซึ่งเป็นหนองน้ำสาธารณะกลางเมือง
มีการแสดงมหรสพรื่นเริง ตามบ้านเรือนของราษฎรจะมีการจุดประทีปโคมไฟ
และมีการลอยกระทงสวรรค์ โดยนำกระทงที่จุดประทีปโคมไฟ แล้วผูกติดกับลูกโป่ง
ลอยขึ้นไปในอากาศ แลดูสว่างไสวไปทั่ว พีธีนี้จัดขึ้นที่วัดพระธาตุดอยกองมู
นอกจากนี้ ยังมีศิลปะที่น่าสนใจของชาวไต คือ
ศิลปะการแสดงและดนตรี อาทิ "ฟ้อนกิงกะหล่า" หรือฟ้อนกินรี
ซึ่งได้รับความนิยมที่สุด ผู้แสดงจะใส่ปีกใส่หางบินร่ายรำ
นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนตัวสัตว์ต่างๆ
ที่มีความเชื่อว่าอาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์ เช่น ฟ้อนนก ฟ้อนปลา ฟ้อนผีเสื้อ
ฟ้อนม้า เป็นต้น
|