ประวัติ
ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล
พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ
จนถึงบ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง)
พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ
ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว
และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ
แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร
แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น
มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอนผู้นั้น ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น
บรรจุในผอบทองคำ
และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา
แล้วแต่งยนต์ผัด(ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน
แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น
ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์
มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม
จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในทางประวัติศาสตร์นครลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติว่า เมื่อปี
พ.ศ. 2275 นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร
และเกิดความวุ่นวายขึ้น
สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองอาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด
พม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน
โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า
ท้าวมหายศเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง
โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น หนานทิพย์ช้าง
ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอเกาะคา) วีรบุรุษของชาวลำปาง
ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้ทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด
และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป
ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์
ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระยาสุลวะลือไชยสงคราม
เจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่
ณ ลำพูน ณ น่าน
วัดพระธาตุลำปางหลวง
เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร
ตามประวัติพระนางจามเทวีเคยเสด็จมานมัสการ
และทำการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ
นับว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล มีความสวยงาม
และมีความยอดเยี่ยมทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม
เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกต ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำปาง
และชาวพุทธทั่วไป
ประตูโขง
เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณที่สวยงามก่ออิฐถือปูนทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้น
ๆ มีสี่ทิศ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้
และสัตว์ในหิมพานต์
ประตูโขงแห่งนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปาง
มณฑปพระเจ้าล้านทอง
วิหารหลวง เป็นวิหารประธานของวัด ตั้งอยู่บนแนวเดียวกับประตูโขง
และองค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้น ๆ
ภายในวิหารบรรจุมณฑปพระเจ้าล้านทอง ด้านในของแนวคอสอง
มีภาพเขียนสีโบราณเรื่องชาดก
องค์พระธาตุเจดีย์
เป็นเจดีย์ล้านนาผสมเจดีย์ทรงลังกา ก่ออิฐถือปูน
ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น
เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง
ฉลุลายหรือที่เรียกว่าทองจังโก
ตามตำนานกล่าวว่าเป็นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
วิหารน้ำแต้ม
เป็นวิหารบริวารตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์
เป็นวิหารเครื่องไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปร่างและสัดส่วนงดงาม
ภายในคอสองมีภาพเขียนสีโบราณที่เก่าแก่
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 45
นิ้ว
หอพระพุทธ
เป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยม
ฐานเจดีย์สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ สร้างขึ้นสมัยเจ้าหาญแต่ท้อง
เมื่อปี พ.ศ.1992
วิหารพระพุทธ
สร้างขึ้นคู่กับวิหารน้ำแต้ม สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นวิหารโล่ง
ได้มีการบูรณะซ่อมแซมภายหลัง ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ขนาดหน้าตักกว้าง 40 นิ้ว
เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะ และส่วนสัดที่งดงามมาก
บันไดทางขึ้นด้านหน้าออกแบบเป็นรูปมังกรคายพญานาคทั้งสองข้างบันได
เชิงบันไดมีรูปสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่สองตัว สร้างในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์
เจ้าผู้ครองนครลำปาง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๓๑
|