ตราดเป็นจังหวัดชายแดนเล็ก
ๆ สุดด้านชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย
ต่อจากจังหวัดจันทบุรี สันนิษฐานกันว่า
"ตราด"เพี้ยนมาจากคำว่า "กราด"
ซึ่งเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้ทำไม้กวาด
และรอบเมืองตราดในสมัยก่อนนั้นก็มีต้น "กราด"
ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
รัชสมัยพระนเรศวรมหาราช "ตราด" มีชื่อในขณะนั้นว่า
"บ้านบางพระ" ใน ร.ศ. 112
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสยอมยก
ดินแดนจังหวัดตราดและเกาะช้างทั้งหมดตั้งแต่แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด
รวมทั้งเมืองปัจจันตคีรีเขตร (เกาะกง) ให้แก่ฝรั่งเศส
เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรี ต่อมาในวันที่ 23
มีนาคม พ.ศ. 2449 ได้ยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เสียมราฐ
และศรีโสภณรวมทั้งเมือง
ปัจจันตคีรีเขตรให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกเอาเมืองตราด
เกาะต่างๆ ตั้งแต่แหลงสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด
กับเมืองด่านซ้ายฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนมา
โดยฝ่ายไทยมีพระยามหาอำมาตยาธิบดี ซึ่งในขณะนั้น
เป็นพระยาศรีเทพตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงมหาดไทย
เป็นหัวหน้าผู้แทนรัฐบาลไทย
ฝ่ายฝรั่งเศสมีมองซิเออร์รูซโซเรซิดังเป็น
หัวหน้าผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส ได้กระทำพิธีส่งและรับ มอบกัน
ณ ศาลากลางจังหวัด และฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกไป เมื่อวันที่
6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ชาวจังหวัดตราดได้ถือเอาวันที่ 23
ของทุกปีเป็นวัน "ตราดรำลึก"
วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484
ช่วงระหว่างสงครามอินโดจีน
เรือรบฝรั่งเศสล่วงล้ำน่านน้ำด้านจังหวัดตราด
กองเรือรบราชนาวีไทยได้เข้าขัดขวางเกิดการยิงต่อสู้กัน
ซึ่งเป็นที่รู้จักกัน ทั่วไปในนาม "ยุทธนาวีที่เกาะช้าง"
โดยฝ่ายไทยสามารถขับไล่ข้าศึกให้ล่าถอยไปได้แต่ต้องสูญเสียเรือรบหลวงไป
3 ลำ คือ เรือรบหลวงสงขลา เรือรบหลวงชลบุรี
และเรือรบหลวงธนบุรี รวมทั้งทหารอีกจำนวนหนึ่ง ในวันที่ 17
มกราคมของทุกปี กองทัพเรือจึงถือเป็นวันทำบุญ
ประจำปีเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ทหารเรือไทยที่ได้สละชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่
เพื่อปกป้อง แผ่นดินไทยในครั้งนั้น
|