งานประเพณีแข่งโพนลากพระ
(ชักพระ)
นิยมทำกันทั่วไปในภาคใต้ ในช่วงเดือน 11
(แรม 1 ค่ำ เดือน 11) การลากพระมีอยู่ 2 ลักษณะ ตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ คือ
ลากพระทางบกและลากพระทางน้ำ สำหรับจังหวัดพัทลุง เป็นการลากพระทางบก จะมีการตีโพน
(กลอง) เพื่อควบคุมจังหวะในการลากพระ ขบวนพระลาก
ของแต่ละวัดก็จะมีผู้ตีโพนอยู่บนขบวน และเมื่อผ่านวัดต่างๆ
ก็จะมีการตีโพนท้าทายกัน ทำให้มีการแข่งขัน ตีโพนเกิดขึ้น
และทางจังหวัดพัทลุงก็ได้จัดให้มีการแข่งขันตีโพนขึ้นเป็นประจำทุกปี
ในเทศกาลลากพระเดือน 11
การละเล่นซัดต้ม
ประเพณีซัดต้มมีที่มาอันเกี่ยวข้องกับประเพณีลากพระคือ ในสมัยพุทธกาล
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จ กลับจากจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงมายังโลกมนุษย์
ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมี
พุทธศาสนิกชนรอเข้าเฝ้าเพื่อถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์
แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนมีเป็นจำนวนมาก
ทำให้ไม่สามารถถวายภัตตาหารได้อย่างใกล้ชิด จึงได้มีการนำใบไม้มาห่อหุ้มภัตตาหาร
ซึ่งเรียกกันว่า "ข้าวต้ม" หรือ "ต้ม" และพยายามโยนต้มเหล่านั้นให้ลงบาตร
แต่การโยนทำให้ต้มพลาดไปถูกเหล่าพุทธศาสนิกชนด้วยกันเอง
ต่อมาจึงกลายเป็นการละเล่นซัดต้ม และพัฒนาเป็นการแข่งขันด้านไหวพริบ
และความรวดเร็วว่องไวในการซัด และหลบหลีกต้มซึ่งจัดทำอย่างพิเศษ
(ใช้ข้าวตากผสมกับทรายห่อด้วยใบตาลเป็นรูปตะกร้อสี่เหลี่ยม)
การละเล่นซัดต้มต้องอาศัยความกล้าหาญเป็นอย่างมาก
เพราะถ้าไม่สามารถหลบหลีกต้มของคู่ต่อสู้ อาจจะเป็นอันตรายได้
ปัจจุบันการซัดต้มหาดูได้ค่อนข้างยาก ทางจังหวัดพัทลุง จึงได้จัดให้มีการแข่งขัน
ซัดต้มรวมอยู่ในงานประเพณี แข่งโพนลากพระในเดือน 11 ด้วย
งานวันอนุรักษ์มรดกไทยและงานมหกรรมชิงแชมป์หนังตะลุง
เป็นงานที่จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี กิจกรรมภายในงาน
จะเป็นการจัดนิทรรศการ การละเล่นพื้นบ้านปักษ์ใต้ และการประกวดหนังตะลุง
ซึ่งได้รับความสนใจ จากศิลปินพื้นบ้านเข้าร่วม การประกวดมากมาย
งานดังกล่าวนี้จะจัดขึ้น ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง
|