ตั้งอยู่ภายในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ที่เรียกว่า "หอคำ"
โดยเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน สร้างขึ้นเป็นที่ประทับ เมื่อ
พ.ศ. 2446 ลักษณะตัวอาคารโอ่โถงงดงามก่ออิฐถือปูน แข็งแรง
แต่ตกแต่งให้อ่อนช้อยสวยงามด้วยลายลูกไม้
นับเป็นสถาปัตยกรรมก่อสร้างที่ดีเด่นแห่งหนึ่งของเมืองไทย
นอกจากนั้นบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช
ผู้เป็นเจ้าของหอคำ แห่งนี้ด้วย
กรมศิลปากรได้รับมอบอาคารหอคำเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่านเมื่อปี
พ.ศ.2517 แล้วจึงนำโบราณวัตถุ
ตลอดจนสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี
และชาติพันธุ์วิทยาประจำท้องถิ่นมาจัดแสดงให้ชมอย่างมีระบบและระเบียบสวยงาม
คือ
ส่วนที่เป็นห้องจัดแสดงชั้นล่าง
จัดแสดงชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับล้านนาเช่น ลักษณะอาคารบ้านเรือน
และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน การทอผ้าและผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ
ที่สวยงามมาก การสาธิตงาน ประเพณีและความเชื่อต่างๆ เช่น
การแข่งเรือจุดบ้องไฟสงกรานต์ และพิธีสืบชะตา เป็นต้น
ที่น่าสนใจในการจัดแสดงห้องโถงข้างล่างนี้
ยังมีการจัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ และเครื่องใช้
ของชนกลุ่มน้อยในเมืองน่าน รวม 5 เผ่าด้วยกัน คือ ไทยลื้อ แม้ว เย้า
ถิ่น และผีตองเหลือง
ส่วนบริเวณหัองจัดแสดงชั้นบน
เป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน
การสร้างเมืองและโบราณสถานที่สำคัญ รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์
เครื่องใช้เงินตรา อาวุธ ศิลาจารึก
และเครื่องถ้วยชามที่ค้นพบในเมืองน่านที่สำคัญที่สุดได้แก่ ห้องเก็บ "งาช้างดำ"
ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุคู่เมืองน่าน ตามประวัติกล่าวว่า
ได้มาจากเมืองเชียงตุงตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา
เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย
เจ้านายบุตรหลานจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดินพร้อมกับหอคำ
ลักษณะของงาช้างดำนี้เป็นงาปลีเปลือกสีน้ำตาลเข้ม ขนาดความยาว 97 ซม.
วัดโดยรอบ 47 ซม. มีน้ำหนัก ประมาณ 18 กก. ส่วนปลายมนมีจารึก
อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยกำกับไว้ว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน"
หรือประมาณ 18 กก.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่านเปิดให้ประชาชน และนัก-ท่องเที่ยวเข้าชมตั้งแต่เวลา
09.00-16.00 น. ทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
โดยเสียค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทยคนละ 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท
รายละเอียดติดต่อ โทร. 054-710561