งานแข่งเรือประเพณีฉลองงาช้างดำจังหวัดน่าน
ประเพณีแข่งเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานนิยมจัดให้มีขึ้นในงานประเพณีตานก๋วยสลาก
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2479
ได้จัดให้มีการแข่งเรือในงานทอดกฐินสามัคคีสืบทอดมาจนถึงงานทอดกฐิน
พระราชทาน ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีในราวกลางเดือนตุลาคม
หรือต้นเดือนพฤศจิกายนทุกปี
ภายหลังทางจังหวัดได้ผนวก
งานสมโภชงาช้างดำอันเป็นสมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน
เข้าไปด้วย เรือที่เข้าแข่งแต่ละลำใช้ไม้ซุงใหญ่ๆ เอามาขุดเป็นเรือ
ตกแต่งหัวเรือท้ายเรือเป็นรูปหัวนาคและหางนาคอย่างสวยงาม ประเภทการแข่งขัน
มีทั้งเรือใหญ่ เรือกลาง และเรือเล็ก รวมทั้งประเภทสวยงาม นอกจากนี้ยังมี
การประกวดกองเชียร์อีกด้วย นับเป็นประเพณีที่น่าสนใจ อย่างยิ่ง
งานเทศกาลส้มสีทองและงานกาชาดจังหวัดน่าน
ส้มสีทองเป็นผลผลิตทางการเกษตร ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน
พันธุ์เดียวกับส้มเขียวหวาน แต่ส้มสีทอง จะมีเปลือกสีเหลืองทองสวยงาม
และรสชาติหวานหอมอร่อยกว่า เป็นเพราะอิทธิพลของดินฟ้าอากาศ
คืออุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนต่างกัน 8 องศา เป็นเหตุให้สาร
"คาร์ทีนอยพิคเมนท์" ในเปลือกส้มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทองดังกล่าว
ตามประวัติของการปลูกส้มสีทองมีอยู่ว่า ในปี พ.ศ. 2468 "หมื่นระกำ"
ผู้คุมเรือนจำจังหวัดน่าน ได้นำส้มจีนเข้ามาปลูกก่อนเป็นครั้งแรก
และในเวลาต่อมาได้มีการนำส้มพันธุ์ต่างๆ มาปลูกที่เมืองน่านด้วย
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2480 อาจารย์คำรพ นุชนิยม อดีตศึกษาธิการ จังหวัดน่าน
ได้ริเริ่มการปลูกส้มเขียวหวานด้วยการปักกิ่งตอนจนกระทั่งได้แพร่หลายมาตราบเท่าทุกวันนี้
ทุกๆ ปี ราวกลางเดือนธันวาคม
ได้กำหนดจัดงานเทศกาลส้มสีทองและงานกาชาดจังหวัดน่านขึ้น ณ
สนามกีฬาจังหวัดน่าน ซึ่งในงานจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง ได้แก่
การประกวดขบวนรถส้มสีทอง การออกร้านนิทรรศการ
การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมจากอำเภอต่างๆ และจากแม่ฮ่อน-หงสา
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การแสดงศิลปพื้นเมืองและมหรสพต่างๆ
อีกมากมาย
|