วัดบางพลีใหญ่ใน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดสมุทรปราการ
วัดนี้อยู่ริมลำคลองสำโรง ห่างจากประตูน้ำสำโรงประมาณ 13
กิโลเมตร มีเนื้อที่ 40 กว่าไร่ เนื้อที่ตั้งวัดประมาณ 35
ไร่เศษ
อยู่ติดกับ
ตลาดน้ำโบราณบางพลี ในอุโบสถมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สมัยสุโขทัยปางมารวิชัยลืมเนตร
หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ เนื้อเป็นทองสัมฤทธิ์
เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนโดยทั่วไปนาม หลวงพ่อโต
วัดนี้จึงมีชื่อว่า วัดหลวงพ่อโต อีกชื่อหนึ่ง
ชาวบางพลีได้อัญเชิญหลวงพ่อโตจำลองลงเรือในพิธีโยนบัวหรือรับบัวทุกปี
ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11
อ่านประวัติ
ประเพณีรับบัว โยนบัว >>> |
|
การเดินทางจากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดต่าง ๆ
มายังวัดนี้สะดวกสบายมากด้วยทางรถยนต์ และทางเรือ
ทางรถยนต์:
- เข้าทางถนนสาย บางนา-ตราด
ประมาณกิโลเมตรที่ 12 ข้ามสะพานคลองชวดลากข้าว
แล้วจะมีทางเลี้ยวเข้าสู่อำเภอบางพลี ทางด้านขวามือประมาณ 3
กิโลเมตรครึ่ง ก็จะถึงวัด
-
อีกทางหนึ่งเข้าถนนเทพารักษ์ข้างสถานีตำรวจสำโรงประมาณ 13 กิโลเมตร
ก็ถึงวัด ส่วนทางเรือก็มีเรือโดยสารอยู่ที่ท่าเรือสำโรง
มีเรือโดยสารออกทุกระยะประมาณไม่เกิน 30 นาที
เรือก็จะถึงวัดบางพลีใหญ่ใน นับวาการคมนาคมสะดวกสบายมาก
วัดบางพลีใหญ่ใน
เดิมชื่อ วัดพลับพลาไชยชนะสงคราม
ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเรียกวัดนี้ว่า วัดใหญ่หรือ วัดหลวงพ่อโต
ทางประวัติศาสตร์
จากโบราณคดีจารึกสืบต่อกันแต่ครั้งโบราณกาล กล่าวว่า
วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยามาถึง 2 ครั้ง มาในปี พ.ศ.2112 และ
พ.ศ.2310
สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกอบกู้อิสรภาพสู่ความเป็นไทยอีกครั้งหนึ่งพระองค์ทรงกระทำสงคราม
และได้มีชัยชนะแก่พม่าหลายต่อหลายครั้ง จนอาณาเขตของประเทศไทย
(สยาม) ขยายออกไป อีกอย่างกว้างขวาง
ณ
ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงยาตรากองทัพขับไล่ข้าศึกมาทางทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา
มาถึงยังตำบลหนึ่งซึ่งยังไม่ปรากฏนามและ ณ
ที่แห่งนี้พระองค์ได้ทรงสั่งให้หยุดทัพพักไพร่พล
และได้ทรงทำพิธีกรรมบวงสรวงหาฤกษ์ยามอันเป็นนิมิตตามตำรับพิชัยสงคราม
ก่อนที่จะยาตราทัพไล่กวาดล้างข้าศึกและอริราชศัตรูต่อไป
การทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงนี้ ตามประเพณีโบราณมีการปลูกศาลเพียงตา
พร้อมทั้งเครื่องเซ่นสังเวย ประดามี ข้าวตอกดอกไม้ สัตว์สี่เท้า
สัตว์สองเท้า ขนมต้มขาว ขนมต้มดำ ขนมต้มแดงและอื่นๆ
พร้อมทั้งอัญเชิญพระแสงปืน พระแสงดาบ และสรรพวุธ บรรดามี
เพื่อเข้าในพิธีพลีกรรมบวงสรวงนี้
พร้อมทั้งตั้งสัจจะอธิษฐานต่อเทวาอารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่า
“ถ้าหากพระองค์ยังมีบุญญาธิการปกครองไพร่ฟ้าประชาชน
พร้อมทั้งบ้านเมืองให้ได้รับ
ความร่วมเย็นเป็นสุขแล้ว
ขอให้พระองค์จงมีชัยชนะต่ออริราชศัตรูทั้งมวล
ครั้งเมื่อพระองค์ทรงกรีฑาทัพรบได้ชัยชนะแล้ว
ก็ทรงยาตราทัพกลับสู่กรุงศรีอยุธยา
ย้อนผ่านกลับมาทางเดิม
ที่พระองค์ได้ทรงกระทำพิธีกรรมบวงสรวงนั้นก็ทรงได้โปรดให้สร้างพลับพลาชัยขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์
ในชัยชนะของพระองค์ และทรงขนานพระนามว่า
“พลับพลาชัยชนะสงคราม”
ครั้งต่อมาชาวบ้านในละแวกแถบนั้นได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นที่พลับพลาแห่งนี้และเรียกวัดที่สร้างขึ้นนี้ว่า
“วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม”
ส่วนชื่อของตำบลนั้นได้มีชื่อว่า “บางพลี”
ก็เพราะเหตุที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกระทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงนั้นเอง
ดังนั้นประชาชนทั้งหลายจึงเรียกว่าบางพลีและวัดพลับพลาชัยชนะสงครามก็ถูกเรียกตามตำบลนั้นอีกว่า
“วัดบางพลี” ซึ่งชื่อนี้ประชาชนนิยมเรียกกันมากกว่าชื่อเดิม
แต่เนื่องจากต่อมาได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกอยู่ทางด้านนอก
เรียกกันว่า วัดบางพลีใหญ่กลาง
ส่วนวัดพลับพลาชัยชนะสงครามเป็นวัดที่อยู่ทางด้านในมีอาณาเขตใหญ่โตซึ่งต่อมาได้พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นมิ่งขวัญของวัดจึงเรียกว่า
“วัดบางพลีใหญ่ใน” หรือ “วัดหลวงพ่อโต” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ประวัติหลวงพ่อโต
เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบางพลี ชาวสมุทรปราการ
และประชาชนทั่วไปเคารพนับถือ ตามตำนานกล่าว่า
หลวงพ่อเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำมาจากทางเหนือ
บ้างก็ว่ามาด้วยกัน 3 องค์บ้าง
แล้วแยกย้ายกันขึ้นบกตามจังหวัดต่างๆที่ประชาชนอาราธนาขึ้น
ตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ 3 องค์ มีผู้เล่าไว้ดังนี้
เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว มีพระพุทธรูปสมัยล้านช้าง 3
องค์ ประกอบด้วยหลวงพ่อวัดบ้านแหลม (ปางอุ้มบาตร)
เป็นองค์พี่
หลวงพ่อโสธร (ปางสมาธิ) เป็นองค์กลาง และ หลวงพ่อโต
(ปางสมาธิ) เป็นองค์ใหญ่ที่สุด แต่เป็นองค์น้องสุดท้อง
พระพุทธรูปทั้งสามได้แสดงปาฏิหาริย์
โดยการลอยน้ำมาจากทางเหนือ ล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา
จนถึงตำบลหนึ่งก็แสดงองค์ ให้ประชาชนเห็น
ประชาชนมีความศรัทธา
จึงอาราธนาพระพุทธรูปทั้งสามขึ้นจากน้ำ
ด้วยการพร้อมใจกันฉุด แต่ฉุดเท่าไรก็ไม่ขึ้น
จนต้องเกณฑ์จำนวนคนมาช่วยกันฉุดถึงสามแสนคน พระพุทธรูปทั้ง
3 องค์ก็ไม่ยอมขึ้นจากน้ำ ต่อมาตำบลนี้จึงได้ชื่อว่า
ตำบลสามแสน แล้วกลายมาเป็นสามเสนในปัจจุบัน
ประชากรหมดหวังที่จะนำพระพุทธรูปทั้งสามขึ้นจากน้ำ
จึงปล่อยให้ลอยน้ำต่อไปอีก
จนถึงแม่น้ำบางปะกงเข้าไปถึงคลอง บางพระ
จังหวัดฉะเชิงเทรา
ประชาชนที่นี้อาราธนาท่านขึ้นมาจากน้ำอีกครั้ง
ท่านก็ยังไม่ขึ้นลอยน้ำต่อไปอีกเรื่อยๆจนในที่สุด องค์พี่
คือ หลวงพ่อบ้านแหลมลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง
แล้วขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร)
จังหวัดสมุทรสงคราม องค์กลาง คือ
หลวงพ่อโสธรกลับลอยทวนน้ำไปถึงวัดเสาทอน
ริมทฝั่งแม่น้ำบางปะกง
จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วขึ้นประดิษฐานที่วัดนี้
ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโสธร
(วัดโสธรวรารามวรวิหาร)
ส่วนองค์สุดท้อง คือ หลวงพ่อโต ลอยเข้าไปในคลองสำโรง
แม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนจึงทำแพผูกติดกับองค์ท่าน
แล้วใช้เรือพายจูงไปตามลำคลอง เมื่อถึงวัดบางพลีใหญ่ใน
ท่านก็แสดงปาฏิหาริย์อีกครั้ง คือ จะพายเรือจูง
ท่านไปอย่างไร ท่านก็ไม่ไป
ประชาชนอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลีใหญ่ใน
(วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม)
จังหวัดสมุทรปราการ
|
|