สกุลช่างรัตนโกสินทร์ได้รวบรวมเอาสกุลช่างไทยอื่นๆไว้ด้วย และด้วยเหตุนี้เราจึงอาจกล่าวได้ว่าสมัยนี้เป็นสมัยคลาสสิคสำหรับจิตรกรรม จากจิตรกรรมฝาผนัง ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในวัดสุทัศน์เทพวราราม และในวัดสุวรรณาราม จังหวัดธนบุรี...
...สกุลช่างเขียนสมัยรัตนโกสินทร์นี้ได้ครอบคลุมไปถึงจิตรกรรมฝาผนังของวัดหลายวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยด้วย จิตรกรรมเหล่านี้แสดงลักษณะแตกต่างไปจากภาพเขียนในภาคกลางของประเทศไทย จิตรกรทางภาคเหนือนิยมเขียนภาพชีวิตประจำวัน ในขณะที่ทางภาคกลางของประเทศไทยนิยมเขียนภาพเรื่องศาสนาหรือเรื่องนิยายต่างๆตามแบบคลาสสิค แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ช่างเขียนทางภาคเหนือจะวาดภาพตามแบบคลาสสิคด้วย เป็นต้นว่า ภาพพระพุทธองค์ พระโพธิสัตว์ และเจ้านาย แต่ลักษณะก็คงเป็นภาพเหมือนชีวิตจริง ถ้าเรามองดูภาพที่งดงามเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เราจะรู้สึกคล้ายกับว่าเราเข้าไปอยู่ในสภาพการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ 100 ปีก่อน ลวดลายทุกส่วน แม้จนกระทั่งร่างกายได้วาดขึ้นไว้อย่างถูกต้องตรงความจริง และด้วยการสังเกตอย่างเฉียบแหลม
เพราะเหตุว่า ช่างทางภาคเหนือไม่จำต้องทำงานตามกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด เหตุนั้นจึงเป็นการง่ายที่จะสังเกตรู้ความสามารถของช่างเหล่านี้ ในวัดเดียวกัน เราอาจเห็นมีทั้งองค์ประกอบภาพที่งดงามมากกับที่ไม่น่าดูปนกันอยู่ เป็นต้นว่า ที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เราจะเห็นว่าบางส่วนของภาพเขียน เช่น ภาพบุคคลสามคนกำลังขึ้นสวรรค์ จะวาดขึ้นโดยช่างที่ไม่มีความชำนาญ แต่ในขณะเดียวกันภาพชายหนุ่มกำลังเกี้ยวหญิงสาวนั้น ประดิษฐ์ขึ้นโดยช่างฝีมือชั้นครูจริงๆ ถ้าภาพทั้งหมดนี้ทำขึ้นตามแบบคลาสสิกก็คงจะเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะสังเกตเห็นความแตกต่างกันเป็นอันมากของภาพทั้งสองนั้นได้
|