กึ่งกลางภายในวิหารมีแกนกลาง ทำหน้าที่รับน้ำหนักหลังคา ประกอบด้วยฐานปัทมลูกแก้วอกไก่รับแท่งสี่เหลี่ยมยกเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นทรงคลุ่มคล้ายองค์ระฆัง ที่ด้านทั้งสี่ของแท่งสี่เหลี่ยมนั้นประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย
ลักษณะแผนผังที่มีแกนกลางรับน้ำหนักหลังคาแบบนี้ เป็นโครงสร้างอาคารที่นิยมสร้างกันมากในศิลปะพม่าที่พุกามตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา เช่น วิหาร Gu-ni-hpaya7 และนิยมสร้างกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าโครงสร้างของวิหารวัดภูมินทร์เดิมนั้นสร้างมาก่อนสมัยพระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดชแล้ว แต่หลักฐานที่เหลืออยู่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ สันนิษฐานว่าคงก่อน พ.ศ.๒๒๔๗ ที่เอกสารระบุว่าพม่าเข้าทำลายพระพุทธรูปวัดภูมินทร์องค์ตะวันตก ซึ่งคงหมายถึงพระพุทธรูปในวิหารนี้เอง
อย่างไรก็ตาม ลักษณะพระพุทธรูปในปัจจุบันก็ไม่สามารถนำมาศึกษาประกอบการกำหนดอายุสมัยการสร้างได้ เพราะได้รับการซ่อมแซมจนไม่สามารถเปรียบเทียบทางศิลปะได้ จากสภาพแท่งสี่เหลี่ยมที่เหลืออยู่ เข้าใจว่าหลังคาอาคารหลังเดิมคงต้องต่ำกว่าองค์ปัจจุบัน เพราะแกนรับน้ำหนักทรงบัวคลุ่มนั้นไม่มีส่วนที่สัมพันธ์กับแท่งสี่เหลี่ยมด้านล่าง
|