การจัดและพัฒนาที่ดิน
ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา งานจัดและพัฒนาที่ดินเป็นงานแรก ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญ ทรงเริ่มโครงการพัฒนาที่ดินหุบกะพง ตามพระราชประสงค์ เมื่อปี พ.ศ.2511 โดยมุ่งแก้ไขปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินของเกษตรกรเป็นสำคัญ ดังพระราชดำรัสที่ว่า
"
มีความเดือดร้อนอย่างยิ่งว่าประชาชนในเมืองไทยจะไร้ที่ดิน และถ้าไร้ที่ดินแล้วก็จะทำงานเป็นทาสเขา ซึ่งเราไม่ปรารถนาที่จะให้ประชาชนเป็นทาสคนอื่น แต่ถ้าเราสามารถที่จะขจัดปัญหานี้ โดยเอาที่ดินจำแนกจัดสรรอย่างยุติธรรม อย่างมีการจัดตั้งจะเรียกว่านิคมหรือจะเรียกว่าหมู่หรือกลุ่ม หรือสหกรณ์ก็ตาม ก็จะทำให้คนที่มีชีวิตแร้นแค้นสามารถที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้
"(สำนักงาน กปร., 2531: 94-5) พระราชดำริแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ได้แก่ทรงนำเอาวิธีการปฏิรูปที่ดินมาใช้ในการจัดและพัฒนาที่ดินที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ทิ้งร้าง ว่างเปล่า นำมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกิน ได้ประกอบอาชีพ ในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ และโครงการจัดและพัฒนาที่ดินในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งนี้โดยให้สิทธิทำกินชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการถือครอง พร้อมกับจัดบริการพื้นฐาน ให้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่ทำกินให้ราษฎรชาวไทยภูเขา สามารถดำรงชีพอยู่ได้เป็นหลักแหล่ง โดยไม่ต้องทำลายป่าอีกต่อไป ในการจัดพื้นที่ต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีหลักการว่าต้องมีการวางแผนการจัดการให้ดีเสียตั้งแต่ต้น โดยใช้แผนที่ และภาพถ่ายทางอากาศช่วยในการวางแผน ไม่ควรทำแผนผังที่ทำกินเป็นลักษณะตารางสี่เหลี่ยมเสมอไป โดยไม่คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ แต่ควรจัดสรรพื้นที่ทำกินแนวพื้นที่รับน้ำจากโครงการชลประทาน นั่นคือจะต้องดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น โครงการนิคมสหกรณ์หุบกะพง (ในพระบรมราชูปถัมภ์) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โครงการจัดพัฒนาที่ดินทุ่งลุยลาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ และโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ "หนองพลับ" อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
|