Thai Tour
สถานที่ท่องเที่ยว
เกาะเสม็ด เกาะช้าง บ้านพักพัทยา ปาย เขาค้อ ที่พักหัวหิน   
: หารายละเอียด : หากระทู้
[1]  
แสตมป์ไทย กับการท่องเที่ยว (ชุดวัดไทย)
โพสเมื่อ : 18 มิ.ย. 51 : 01:21 น.  โดย : คนกันเอง  


 
ความเห็นที่ 1 โพสเมื่อ : 18 มิ.ย. 51 : 01:35 น.  โดย : คนกันเอง  


วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อใช้ประกอบพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีทรงผนวช พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา และใช้เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต โดยตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอกทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งได้ทำการทะนุบำรุงสืบมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าวัดนี้ไม่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ในปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างก็นิยมที่จะมาเที่ยวชมความงดงามและคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่รวมอยู่ภายในวัดนี้ เช่น

- พระระเบียง ซึ่งจะมีประตูเข้า-ออก ถึง 4 ด้าน และตามผนังพระระเบียงจะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ต้นจนจบ

- พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนตามแบบสถาปัตยกรรมไทย ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ทำด้วยแก้วมรกตบริสุทธิ์สีเขียวสดใส หน้าตักกว้าง 48.3 ซม. สูง 26 ซม. ประดิษฐานอยู่บนบุษบกทองคำ ด้านหน้าของพระแก้วจะมีพระมหาสังข์ซึ่งใช้สำหรับให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรินน้ำมนต์ใส่ในพระมหาสังข์ และนำมารดองค์พระแก้วมรกตในเวลาที่จะทำการเปลี่ยนเครื่องทรงของพระแก้วมรกต

- พระมณฑป เป็นที่ไว้พระไตรปิฎก ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎก แล้วสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกตามที่ได้สังคายนา คือ พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ แล้วอัญเชิญจากวัดมหาธาตุมาเก็บไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม แต่เกิดเหตุไฟไหม้หอพระมณเฑียรธรรมทั้งหลัง เหลือแต่ตู้ประดับมุกที่บรรจุพระไตรปิฎก จึงทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯ ให้ถมสระแล้วก่อฐานถมดินทำชั้นทักษิณสร้างพระมณฑปเป็นที่ไว้พระไตรปิฎก

- ปราสาทพระเทพบิดร เดิมมีชื่อว่า "พุทธปรางค์ปราสาท" เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 8 และในทุกๆ วันที่ 6 เมษายนของทุกปี ซึ่งชาวไทยถือเป็นวันจักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้ยพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อถวายราชสักการะพระบรมรูป ทางสำนักพระราชวังก็จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ากราบบังคมพระบรมรูป ดังนั้นประชาชนจึงสามารถเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับเสด็จพระราชดำเนินอย่างใกล้ชิด

- พระศรีรัตนเจดีย์ ลักษณะเป็นเจดีย์ใหญ่ทรงกลมแบบลังกา อยู่ทางด้านตะวันตกของพระมณฑป ภายในมีองค์พระเจดีย์องค์เล็กอยู่องค์หนึ่ง มีรูปทรงเหมือนกับองค์นอก ซึ่งใช้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

- หอพระราชพงศานุสร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 8 องค์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์

- หอพระคันธารราฐ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ซึ่งหล่อในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประทับนั่งขัดสมาธิ มีรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูมหรือลูกแก้ว พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายยื่นออกไปหงายแล้วแบออกเพื่อรองรับน้ำฝน ซึ่งจะอัญเชิญเป็นประธานในพระราชพิธีพืชมงคลและพิธีพิรุณศาสตร์

- รูปยักษ์ โดยจะยืนต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประตูระเบียงทางเข้า-ออก ด้านละคู่ มีทั้งหมด 6 คู่ ซึ่งยักษ์ทั้ง 12 ตนนี้ถือว่าเป็นตัวเอกที่สำคัญจากเรื่องรามเกียรติ์

นอกจากสิ่งที่กล่าวมาแล้วภายในวัดพระแก้วยังมีสิ่งที่ควรค่าแก่การศึกษาหาความรู้อีกมากมาย ถ้าหากท่านผู่อ่านอยากทราบเพิ่มเติมก็ลองไปศึกษาด้วยตัวเอง โดยสามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 - 16.00 น. แต่การไปเที่ยวชมในวัดพระแก้วก็มีกฎกติกาไว้ว่า ห้ามถ่ายรูปในพระอุโบสถ สำหรับผู้ชายห้ามใส่กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ สำหรับผู้หญิงห้ามใส่เสื้อกล้าม เสื้อไม่มีแขน กางเกงสามส่วน รองเท้าแตะ
------------------------------------------------
http://www.thai-tour.com/thai-tour/Bangkok/data/pic_watphrakaew.htm

 
ความเห็นที่ 2 โพสเมื่อ : 18 มิ.ย. 51 : 01:38 น.  โดย : คนกันเอง  


วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

เดิมเป็นวัดโบราณ มีชื่อว่า "วัดโพธาราม" แต่เป็นที่เรียกกันติดปากจนถึงทุกวันนี้ว่า "วัดโพธิ์" สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมมีฐานะเป็นวัดราษฎร์ อยู่ในเขตตำบลปากน้ำเจ้าพระยา เมืองธนบุรี

ต่อมาเปลี่ยนฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร เนื่องจากในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นเมืองหลวง ทรงกำหนดเขตเมืองหลวงทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดโพธารามตั้งอยู่ในเขตฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาจึงตกอยู่ในเขตเมืองหลวงด้วย ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ทรงย้ายเมืองหลวงอยู่ทางฝั่งตะวันออกฝั่งเดียวกัน ทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง มีวัดอยู่ใกล้ชิด 2 วัดคือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุ) และวัดโพธาราม จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามให้สมกับเป็นวัดใกล้ชิดกับพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม"

ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมรวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม และยังได้ชื่อว่าเป็น "มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย" สืบเนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชประสงค์จะให้มีแหล่งศึกษาหาความรู้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมและเลือกสรรตำราทั่วทุกแขนงมาจารึกที่แผ่นศิลาไว้โดยรอบวัด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสศึกษา

นอกจากจะเป็นแหล่งความรู้ให้แก่ประชาชนแล้ว ภายในวัดยังมีปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น

- พระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ภายในองค์พระบรรจุพระสารีริกธาตุ ส่วนที่ฐานชุกชีเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 1 อัญเชิญมาจากวัดศาลาสี่หน้า หรือวัดคูหาสวรรค์ในปัจจุบันนี้

- พระพุทธโลกนาถ หรือเดิมมีชื่อว่า "พระโลกนาถศาสดาจารย์" อันเชิญมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ ประดิษฐานอยู่ในวิหารทิศตะวันออกมุขหลังเป็นพระพุทธรูปยืนหล่อสำริดที่สูงที่สุด

- พระพุทธชินราช สมัยสุโขทัย อัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย อยู่ในวิหารทิศใต้มุขหน้า

- พระพุทธชินสีห์ สมัยสุโขทัย อัญเชิญจากเมืองสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ในวิหารทิศตะวันตกมุขหน้า

- พระพุทธปาลิไลยก์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารทิศเหนือ

- วิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ (พระนอนวัดโพธิ์) สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยช่างสิบหมู่ มีกรมหมื่นภูมินทร์ภักดี (พระองค์เจ้าลดาวัลย์พระโอรสในรัชกาลที่ 3) เป็นผู้กำกับสร้าง ลักษณะเด่นอยู่ที่ฝ่าพระพุทธบาทมีความยาวถึง 46 เมตร พร้อมกับประดับมุกเป็นภาพมงคล 108 ต่อมาได้มีการลงรักปิดทองใหม่ทั้งองค์ในสมัยรัชกาลที่ 3

- ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร ประดิษฐานในพระวิหารน้อยใกล้ประตูทางเข้าด้านทิศใต้ (ย้ายมาจากเชิงสะพานนางเลิ้ง)

- โรงเรียนแพทย์แผนโบราณและอายุรเวทวัดโพธิ์ ทำการสอนการนวด การปรุงยา และตรวจโรคแผนโบราณ ตามจารึกในแผ่นศิลาและรูปปั้นฤาษีดัดตน โดยเน้นภาคปฏิบัติ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

หากผู้ใดสนในจะเข้าเยี่ยมชมด้วยตนเอง สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 - 17.00 น. และสำหรับผู้ที่สนใจเรียนการนวดแผนโบราณก็ไปสมัครเรียนได้ทุกวันในเวลา 8.00 - 17.00 น. และทำการสอนในวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 8.00 - 17.00 น.
-------------------------------------------------------
http://www.thai-tour.com/thai-tour/Bangkok/data/pic_watpo.htm

 
ความเห็นที่ 3 โพสเมื่อ : 18 มิ.ย. 51 : 01:40 น.  โดย : คนกันเอง  


วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

จากแผนที่เมืองธนบุรีที่ชาวฝรั่งเศสทำไว้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าวัดแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในปัจจุบันนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร

เดิมชื่อ วัดมะกอก ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระราชวังขึ้น ได้ทรงถือเอาวัดแห่งนี้เป็นวัดภายในพระราชวัง ยกเลิกไม่ให้พระสงฆ์จำพรรษา และโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พร้อมกับพระราชทานนามว่า "วัดแจ้ง" (ตามคำบอกเล่าเกี่ยวกับชื่อวัดแจ้งนั้น กล่าวว่า "เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้กรีฑาพลล่องลงมาทางชลมารค พอถึงหน้าวัดนี้ก็ได้เวลาอรุณหรือแจ้งพอดี จึงเสด็จพระประทับแรมที่ศาลาการเปรียญ")

ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก จึงทำให้วัดแจ้งอยู่นอกพระราชวัง จึงโปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษาได้เหมือนแต่ครั้งก่อน ต่อจากนั้นก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดหลายครั้งหลายคราวตามความประสงค์และความศรัทธาของพระมหากษัตริย์แต่ละสมัย

ตามประเพณีที่เป็นมา พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีแทบทุกพระองค์ได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในงานพระราชพิธีที่สำคัญของวัดเสมอมา ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐินทางชลมารค สิ่งที่สำคัญที่อยู่ภายในวัดมีอยู่หลายสิ่งด้วยกัน เช่น

- พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นศิลปะกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ หน้าบันทั้งหน้าและหลังเป็นไม้แกะสลักจิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือช่างในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ภายในพระอุโบสถมีพระประธานประดิษฐานอยู่ มีนามว่าพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก เป็นพระปางมารวิชัยหล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ผ้าทิพย์ตรงใบพัดยศบรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2

- พระปรางค์ ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบจานชามเบญจรงค์และเปลือกหอย ทำเป็นลายดอกไม้ ใบไม้และลายอื่นๆ ยอดพระปรางค์เป็นนภศูลและมงกุฎปิดทองพระปรางค์วัดอรุณฯ ถือว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก หากท่านใดสนใจจะเยี่ยมชมภายในของพระปรางค์เสียค่าเข้าชมเพียงท่านละ 10 บาท เท่านั้นเอง

- พระระเบียงคต หรือพระวิหารคต สร้างแทนกำแพงแก้ว หลังคามุงกระเบื้องเคลือบมีประตู 4 ทิศ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 120 องค์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงยกย่องว่า "ทรวดทรงงามกว่าระเบียงที่ไหนหมด เป็นศรีแห่งฝีมือรัชกาลที่ 2 ควรชมอย่างยิ่ง"

- ประตูซุ้มยอดมงกุฎ เป็นประตูจตุรมุข หลังคา 3 ชั้น เฉลียงรอบ มียอดเป็นมงกุฎ ประดับกระเบื้องถ้วยสลับสี

- มณฑปพระพุทธบาทจำลอง อยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร ภายในมีพระพุทธบาทจำลองเป็นหินสลักจากกวางตุ้ง

- รูปปั้นยักษ์ยืน หน้าประตูยอดซุ้มพระมงกุฎมียักษ์ 2 ตน คือ สหัสเดชะ (ยักษ์ขาว) และทศกัณฑ์ (ยักษ์เขียว)
----------------------------------------------------

 
ความเห็นที่ 4 โพสเมื่อ : 18 มิ.ย. 51 : 01:42 น.  โดย : คนกันเอง  

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร

เดิมมีฐานะเป็นวัดราษฎร์ มีชื่อเดิมว่า "วัดแหลม" และ "วัดไทรทอง" ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเบญจบพิตร" และในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างสวนดุสิตเพื่อเป็นที่ประทับ จึงได้ทรงใช้วัดดุสินเป็นที่สร้างพลับพลา และใช้วัดร้างอีกหนึ่งวัดใช้ตัดถนน ซึ่งตามประเพณีต้องมีการสร้างวัดทดแทน ได้ทรงพระราชปรารภว่า "การสร้างวัดเพิ่มขึ้นใหม่หลายวัด จะเป็นการยากต่อการบำรุงรักษา แต่ถ้ารวมเงินบริจาคสร้างเพียงวัดเดียวให้เป็นวัดใหญ่ และทำให้ประณีตจะดีกว่า" ดังนั้นจึงทรงเลือกวัดเบญจบพิตรเป็นวัดที่ทรงสถาปนาตามพระราชดำริและโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบ และโปรดให้เปลี่ยนนามของวัดใหม่เป็น"วัดเบญจมบพิตร" ซึ่งหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 พร้อมเพิ่มสร้อยนามว่า "ดุสิตวนาราม" เพื่อให้คล้องกับพระราชวังสวนดุสิตที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ สิ่งที่สำคัญภายในวัด

- พระอุโบสถ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย สร้างจากหินอ่อนสีขวาบริสุทธิ์ ซึ่งได้รับการออกแบบให้ประณีตงดงาม อ่อนช้อยจนเป็นที่ขึ้นชื่อของชาวต่างประเทศและชาวไทย ลักษณะเป็นทรงจตุรมุข หลังคาซ้อน 4 ชั้น มีพระระเบียงรอบด้านหลัง

- พระพุทธชินราชจำลอง ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ใต้รัตนบัลลังก์บรรจุพระสรีรางคารรัชกาลที่ 5

- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวัดเบญจมบพิตร มีพระพุทธรูปปางสมัยต่างๆ ประดิษฐานบนแท่นปั้นลายลงรักปิดทองเรียงรายโดยรอบ โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวบรวมมาจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะทั้งของไทย ญี่ปุ่น และจีน เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป ซึ่งพิพิธพัณฑ์พระพุทธรูปทั้งหมดนี้มีทั้งที่เป็นพระหล่อสมัยโบราณ และที่หล่อจำลองขึ้นใหม่ พร้อมกับมีประวัติสั้นๆ เขียนอธิบายไว้ที่ฐานพระทุกองค์

สำหรับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติวัดเบญฯ นี้ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 - 17.00 น. ส่วนบริเวณวัดตั้งแต่เวลา 8.30 - 17.30 น. และโบสถ์เวลา 8.00 - 17.30 น.

 
ความเห็นที่ 5 โพสเมื่อ : 18 มิ.ย. 51 : 01:45 น.  โดย : คนกันเอง  

ข้อมูลจาก วารสารตราไปรษณียากร ปีที่ 32 ฉบับที่ 11
ประจำเดือนมิถุนายน 2545 หน้าที่ 20 - 23

 

[1]  

แสดงความคิดเห็น
Detail :

Picture :
Name :


 
ท่องเที่ยว