ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 3,379

วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ

วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ

วัดพระฝาง หรือชื่อเต็มว่า วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ตั้งอยู่ที่บ้านฝาง หมู่ที่ 3 ต.ผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามทะเบียนวัดระบุว่า ประมาณปี พ.ศ. 1700 (ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) วัดพระฝางนับว่าเป็นกลุ่มโบราณสถานของเมืองฝางสวางคบุรี (สว่างคบุรี เพี้ยนมาจาก สวรรคบุรี) เพียงแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในสมัยสุโขทัย และเป็นวัดพระมหาธาตุประจำเมืองสว่างคบุรี เมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และเคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ “เจ้าพระฝาง” เมืองสวางคบุรี ผู้นำชุมนุมเจ้าพระฝางในคราวเสียสมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

วัดพระฝาง มีปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดคือพระมหาธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่กลางกลุ่มโบราณสถานวัดพระฝาง สันนิษฐานว่าพระเจดีย์องค์นี้สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นพระบรมธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของอาณาจักรมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ในหนังสือของท่านว่า พระมหาธาตุองค์นี้ได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นพุทธปูชนียสถานสำคัญของอาณาจักรคู่กับรอยพระพุทธบาทสระบุรี ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงเสด็จขึ้นทำศึกชนะเจ้าพระฝางและตั้งงานสมโภชพระมหาธาตุเมืองพระฝางถึง 3 วัน เทียบเท่างานนมัสการพระพุทธชินราช แต่ความศรัทธาในพระมหาธาตุเมืองฝางคงได้เสื่อมถอยลงในช่วงหลัง จากความเสื่อมของเมืองสวางคบุรี หลังชุมนุมเจ้าพระฝางถูกตีแตกในสมัยธนบุรี จนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์องค์เดิมได้ปรักหักพังไปมาก ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะพระมหาธาตุเมืองพระฝางใหม่ แปลงเป็นแบบเจดีย์ทรงลังกาดังที่เห็นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ วัดพระฝางยังมีอุโบสถมหาอุด (มีประตูทางเข้าบานเดียว) อยู่ด้านทิศตะวันตกของกลุ่มโบราณสถาน ตัวอุโบสถมีสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเดิมภายในอุโบสถเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระฝาง ซึ่งปัจจุบันตัวอุโบสถยังคงมีบานประตูไม้และหน้าบันแกะสลักศิลปะสมัยอยุธยาอันสวยงามอยู่ (บานปัจจุบันเป็นบานจำลอง) และด้านทิศตะวันออกของกลุ่มโบราณสถานมีพระวิหารหลวง เดิมเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปเชียงแสน ปัจจุบันในพระวิหารหลวงมีบานประตูไม้แกะสลักวัดพระฝาง (เป็นบานประตูบานจำลอง สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2551 เพื่อนำมาติดตั้งแทนที่บานประตูเดิมที่ได้นำไปเก็บรักษาที่วัดธรรมาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494)
 
      ปัจจุบันวัดพระฝางได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 มีพื้นที่ได้รับประกาศเป็นโบราณสถานประมาณ 32 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา
 
 ประวัติ
      วัดพระฝางปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 2 ซึ่งได้กล่าวถึงพระมหาเถรศรีศรัทธา ซึ่งเชื่อว่าเป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง ว่าก่อนที่ท่านจะเดินทางไปจาริกแสวงบุญที่ลังกา ในสมัยพญาเลอไท ได้แวะมานมัสการพระธาตุวัดพระฝาง แล้วจึงเดินทางต่อไปยังเมืองแพร่ ลำพูน และลงเรือที่อ่าวเมาะตะมะไปลังกา นอกจากนี้ในศิลาจารึกหลักที่ 3 ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1900 ก็ได้ปรากฏชื่อเมืองฝางอยู่ด้วยเช่นกัน ในจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ุ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์นในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ( พ.ศ. 2230 ) ก็ได้กล่าวถึงความศรัทธาของคนสยามต่อพระทันตธาตุเมืองพระฝางไว้เช่นเดียวกัน แสดงถึงความสำคัญของพระบรมธาตุเมืองฝางในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
      หาดแม่น้ำน่าน หน้าวัดพระฝาง ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5ในปี พ.ศ. 2310 ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพระฝางมีความสำคัญมาก คือ เป็นศูนย์กลางของชุมชนพระฝาง ซึ่งมี "เจ้าพระฝาง" (เรือน) เป็นหัวหน้าสามารถขยายอาณาเขตกว้างขวางจากทิศเหนือ ถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน ทิศใต้ถึงเมืองพิษณุโลก ทิศตะวันออกถึงลาว และทิศตะวันตกถึงเมืองศรีสัชนาลัย เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และเป็นชุมนุมสุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรวบรวมเป็นอาณาเขตเดียวกันกับกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2313 วันที่ 25 ต.ค. พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เสด็จฯ มาสักการะวัดพระฝาง ปรากฏข้อความในพระราชนิพนธ์ของพระองค์ตอนหนึ่งว่า “เมื่อถึงหน้าเมืองฝางก็มีหาดโต เมืองนั้นตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก มีพระวิหารกลางใหญ่ มีลายประตูเป็นลายสลักก้านขดหน้าสัตว์ต่างๆ เช่น บานวัดสุทัศน์ แต่เด่นออกมามากกว่าวัดสุทัศน์ ทำงามดีมาก” พระฝางเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช ศิลปะสมัยอยุธยาวัสดุสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบเศษ สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยาประมาณ พ.ศ. 2280 มีพุทธลักษณะที่งดงาม เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของแผ่นดินไทยอีกองค์หนึ่ง สันนิษฐานว่าผู้สร้างคือเจ้าพระฝาง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระฝาง เป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดพระฝางหรือวัดสว่างคบุรีมุนีนาถ พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยกทัพหลวงมาตีชุมนุมพระฝางได้ และโปรดเกล้าฯ ให้รับละครขึ้นมาสมโภชพระพุทธรูปองค์สำคัญนี้ ที่วัดพระฝางถึง 3 วัน เท่ากันกับการสมโภชพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ซึ่งนับว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองไทยองค์หนึ่ง ในรัชสมัยของสมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่5) ได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระฝางไปประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตรฯจนถึงปัจจุบัน
 
 ปูชนียสถาน โบราณวัตถุ
      เจดีย์พระธาตุพระฝาง แต่เดิมสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย คาดว่าเปลี่ยนมาเป็นทรงลังกาในสมัยพระเจ้าบรมโกศ และได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4"เจดีย์พระธาตุวัดพระฝาง" ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ "วิหารใหญ่และพระอุโบสถเก่า" สำหรับวิหารมีสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยลักษณะเดียวกับวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง แต่เดิมมีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนประดิษฐานอยู่ แต่ปัจจุบันได้ถูกโจรกรรมไปแล้ว ด้านหลังวิหารเป็นองค์พระธาตุ มีกำแพงล้อมรอบ บริเวณหลังสุดมีพระอุโบสถเก่าอยู่อีกหลังหนึ่ง สภาพโดยทั่วไปชำรุดทรุดโทรมมาก เดิมมีบานประตูแกะสลักสวยงาม แต่ก็ได้ถูกขโมยไปแล้วเช่นกัน ด้านหน้าโบสถ์มีต้นมะม่วงใหญ่อายุหลายร้อยปีอยู่ต้นหนึ่ง บริเวณรอบนอกวัดด้านหลังเป็นป่าละเมาะ ส่วนด้านหน้ามีบ้านคนอยู่บ้างแต่ไม่หนาแน่น
      วิหารใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจากหลักฐาน แสดงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการบูรณะพระบรมธาตุสวางคบุรี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พอประมวลได้ดังนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2410 โปรดเกล้า ฯให้พระยามหาอำมาตยาธิบดีเป็นแม่กองสักเลข หัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นไป ตั้งอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก และโปรดให้พระยาอุตรดิตถาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองอุตรดิตถ์เป็นแม่กองรับจ่ายเลข ข้าพระโยมสงฆ์ตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทำการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดพระธาตุในเมืองสวางคบุรีที่เรียกกันว่า เมืองฝาง พระเจดีย์นั้นชำรุดมาก ต้องรื้อลงมาถึงชั้นทักษิณที่สาม เมื่อรื้ออิฐเก่าที่หักพังออกก็พบแผ่นเหล็กเป็นรูปฝาชีหุ้มผนึกไว้แน่น เมื่อตัดแผ่นเหล็กออกจึงพบผอบทองเหลือง บนฝาผอบมีพระพุทธรูปองค์เล็กบุทองคำฐานเงินอยู่องค์หนึ่ง ในผอบมีพระบรมธาตุขนาดน้อยสีดอกพิกุลแห้ง 1,000 เศษ แหวน 2 วง พลอยต่างสี 13 เม็ด เมื่อพระยาอุตรดิตถาภิบาลมีใบบอกมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดเรือม่านทองให้ข้าหลวงขึ้นไปรับ เชิญพระบรมธาตุมาขึ้นที่กรุงเก่า เชิญขึ้นไว้ที่พระตำหนักวังป้อมเพชร แล้วจัดเรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลมีปี่พาทย์ แตรสังข์ รับเชิญลงมากรุงเทพ ฯ เชิญขึ้นไว้ ณ พระตำหนักน้ำ ทำการสมโภชแล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงมีพระราชดำริว่าควรที่จะส่งพระบรมธาตุคืน ให้ไปบรรจุไว้ตามที่ดังเก่าบ้าง แบ่งไว้สักการะบูชา ณ กรุงเทพ ฯ บ้าง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ช่างหลวงทำกล่องทองคำเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุชั้นใน แล้วใส่กล่องเงินเป็นชั้นที่สอง ใส่ในพระเจดีย์กาไหล่เงินเป็นชั้นที่สาม แล้วใส่ในพระเจดีย์ทองเหลืองเป็นชั้นที่สี่ แล้วใส่ครอบศิลาตรึงไว้แน่นหนา ให้เจ้าพนักงานเชิญพระบรมธาตุใส่พระเสลี่ยงน้อยกั้นพระกรด ไปตั้งบนบุษบกที่พระตำหนักน้ำ พร้อมเครื่องสักการะบูชา มีเรือกรมการและราษฎรเมืองนนทบุรี แห่เป็นกระบวนขึ้นไปส่งถึงเมืองปทุม แล้วผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการตั้งแต่เมืองปทุมธานีขึ้นไป จัดแจงทำสักการะบูชา แล้วจัดเรือแห่มีปี่พาทย์ฆ้องกลองเล่นสมโภชตามมีรับส่งต่อ ๆ จนถึงเมืองสวางคบุรี
 
      บานประตูวัดพระฝางบานเดิม ศิลปะสมัยอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดธรรมาธิปไตย ในตัวเมืองอุตรดิตถ์ บานประตูเก่าวิหารวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ เดิมนั้นอยู่วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ แต่เนื่องจากวิหารชำรุดทรุดโทรมมาก อีกทั้งวัดพระฝางในขณะนั้นไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา พระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้นจึงได้ขออนุญาตกรมศิลปากรนำมาเก็บรักษาไว้ที่ อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 ทิ้งไว้แต่ตัววิหารปล่าว ปราศจากบานประตูอันวิจิตรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
 
      บานประตูวิหารวัดพระฝางจำลองบานประตูคู่นี้แกะสลักในสมัยอยุธยา แต่ละบานขนาดกว้าง 1.2 เมตร สูง 5.3 เมตร และหนาถึง 16 เซนติเมตร ทำจากไม้ปรุแกะสลักเป็นลายกนกก้านขด ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ บานละ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มทรงข้าวบิณฑ์มีกนกใบเทศขนาบ สองข้างขวามือด้านบนมีอกเลาประตูอยู่ตรงกลาง แกะสลักเป็นลายเทพพนม ตอนบนอกเลา 4 องค์ตอนล่างอกเลา 4 องค์ กล่าวกันว่างดงามเป็นที่สองรองจากประตูวิหารวัดสุทัศน์ในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2534 กรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่มาอนุรักษ์เนื้อด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ บานประตูวัดพระฝางจึงมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ในปีพ.ศ. 2550 ได้มีการจัดสร้างบานประตูไม้แกะสลักวิหารวัดพระฝางคู่ใหม่ เพื่อนำกลับไปติดตั้งยังวิหารหลวงวัดพระฝาง (ติดตั้งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2551) ซึ่งบานประตูคู่ใหม่นี้มีลักษณะวิจิตรสวยงามเหมือนของเดิมทุกประการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมศิลปากรในการจัดสร้าง


วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ

เจดีย์พระธาตุพระฝาง

พระพุทธรูปพระฝาง

พระพุทธรูปพระฝาง

วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระฝาง

พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ

ประวัติความเป็นมาของวัดพระฝาง

วิหาร และเจดีย์ภายในวัดพระฝาง

วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ

 
ที่เที่ยวแนะนำ