ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 11,272

เกาะพยาม

เกาะพยาม

เกาะพยาม | ที่พักเกาะพยาม | แผนที่เกาะพยาม | กระทู้เกาะพยาม

ข้อมูลท่องเที่ยวเกาะพยาม

เกาะพยาม เป้าหมายที่ผมตั้งใจจะไปให้ถึงเมื่อหลายปีก่อน แต่มีต้องพลาดไป เพราะไม่ได้วางแผนไว้ก่อน เสียเวลาไปหาท่าเรือนานไปหน่อย ทำให้ไปไม่ทันเที่ยวเรือ ก็เลยไปนั่งเรือเที่ยวหมู่เกาะกำที่อยู่รอบๆ แทน ได้แก่ เกาะค้างคาว เกาะกำตก เกาะกำใหญ่ เกาะกำนุ้ย

ครั้งล่าสุด ผมวางแผนล่วงหน้าเป็นเดือนๆ ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด จึงไม่พลาด ผมเองก็เที่ยวมาหลายเกาะ ไม่ว่าจะเป็น เกาะพีพี เกาะลันตา เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า  เกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด หมู่เกาะตะรุเตา เกาะเสม็ด เกาะสิมิลัน เกาะสุรินทร์ ฯลฯ เกาะเหล่านี้ต่างจาก เกาะพยามโดยสิ้นเชิง

เกาะพยามยังดิบอยู่มาก ไม่มีแสงสีปรุงแต่ง ความเจริญยังเข้าไม่ถึงนัก แต่สิ่งที่ได้จากการมาทริปนี้ มากจริงๆ

เรามาดูกันซิว่า เกาะพยามอยู่ที่ไหนในประเทศไทย มีอะไรบ้างบนเกาะ

เกาะพยาม อยูฝั่งทะเลอันดามัน จ.ระนอง เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากเกาะช้าง(ระนอง) อยู่ห่างเกาะช้างมา ทางใต้ 4 กิโลเมตร ตอนกลางของเกาะพื้นที่เป็นภูเขามีป่าไม้และสัตว์ป่าประเภทนก ลิงและหมูป่า พื้นที่บางส่วนถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวน ชาวบ้านบนเกาะมีอาชีพทำสวนมะพร้าว สวนยางและสวนกาหยู ลักษณะทางภูมิศาสตร์ รอบๆ ชายฝั่งเป็นอ่าวสลับกับโขดหิน บริเวณตอนกลางของอ่าวเป็นหาดทราย

หมู่บ้านชาวมอแกน

หมู่บ้านชาวมอแกน

ผลมะม่วงหิมพานต์

ผลมะม่วงหิมพานต์

ปูเสฉวน

ปูเสฉวน

ตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าเกาะ มี อ่าวไผ่ อยู่เหนือสุด ถัดมาเป็นอ่าวหินขาว ลงมาอีกหน่อยบริเวณอ่าวแม่หม้าย ใกล้ๆกันมีวัดเกาะพยามมีสะพานทางเดินไปสู่โบสถ์ที่ยื่นลงไปในทะเล ติดกันเป็นสะพานท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ของเกาะพยาม ใกล้เคียงจะมีเรือประมงของชาวบ้านจอดพัก บริเวณอ่าวแม่หม้ายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการค้าของเกาะพยาม พ้นจากอ่าวแม่หม้ายผ่านแหลมหินลงมาทางใต้ จะเห็น อ่าวมุก ใกล้ๆกันห่างฝั่งไม่มากนักคือ เกาะขาม เกาะเล็ก ๆ ที่เมื่อยามน้ำขึ้นเห็นแยกเป็นสองเกาะ แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า เกาะปลาวาฬ สืบเนื่องจากรูปร่างของเกาะเมื่อน้ำลดจะมีสันทรายกว้างใหญเป็นทางเดินเชื่อมทั้งสองเกาะเข้าหากัน ฝั่งตะวันตกที่หันหน้าสู่ทะเลอันดามัน เหนือสุดเป็นโขดหิน ถัดพ้นลงมา อ่าวเขาควาย อ่าวที่มีหาดทรายกว้างทอดยาวโค้งเหมือนเขาควายกว่า 4 กิโลเมตร วกลงมาทางใต้ผ่านโขดหินลงผ่าน แหลมหรั่ง ลงมาถึง อ่าวใหญ่ ชายหาดของอ่าวถูกแบ่งเป็นสองส่วนโดยลำคลองเล็ก ๆ หาดทรายของอ่าวใหญ่เป็นหาดทรายกว้างแบบเดียวกันกับหาดทรายของ อ่าวเขาควาย

 

เกาะพยาม เป็นหมู่ที่ 1 ของตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง มีประชากรประมาณ 500 คน บนเกาะมีสถานีอนามัย โรงเรียน และวัดเกาะพยามที่มีพระอุโบสถกลางน้ำบนหลังประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาองค์ใหญ่ มองเห็นสวยเด่นเป็นสง่ามาแต่ไกล มีท่าเทียบเรือประมงแบบคอนกรีตที่สามารถใช้ได้ตลอดเวลา มีถนนเล็ก ๆ ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปยังอ่าวต่าง ๆ บนเกาะ ปัจจุบันยังไม่มีไฟฟ้าใช้ คงมีแต่ไฟฟ้าของเอกชนที่ปั่นไฟฟ้าใช้ในกิจการของตนเอง ชาวเกาะพยามรุ่นแรก ๆ อพยพมาจากเกาะสมุย  

เกาะพยามเป็นแหล่งผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีคุณภาพดี จนขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งกาหยูหวานของจังหวัดระนอง 
บรรยายมาถึงตอนนี้ รู้ไหมว่า กาหยู ก็คือ มะม่วงหิมพานต์นั้นเอง และรู้ไหมว่า คำขวัญจังหวัดระนองคือ "คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง" กาหยูหวาน ที่เกาะพยามนี้ขึ้นชื่อระดับจังหวัด เพราะขบวนการผลิตแบบดั้งเดิม คือ ใช้เตาฟืน ได้กลิ่นหอมน่ารับประทานกว่า ว่าแล้วก็เข้าเรืองเลย
ชมการทำเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และขั้นตอนการผลิด

อ่าวแม่หม้ายเป็นประตูใหญ่สู่เกาะพยาม หน้าอ่าวมีสะพานท่าเทียบเรือเมื่อเดินเข้าถึงฝั่งมีป้ายต้อนรับผู้มาเยือน มีเรือประมงของชาวบ้านจอดเรียงรายทั้ง 2 ฟากของสะพาน บริเวณใกล้เคียงแหล่งชุมนุมหลัก มีร้านขายอาหารและของใช้ประจำวัน เป็นจุดเริ่มต้นของถนนสายหลักที่ ลักษณะเป็นถนนคอนกรีตความกว้างประมาณ 3 เมตร ตัดผ่านชุมนุมเลียบอ่าวแม่หม้าย มีทางแยกตัดตรงไปสู่อ่าวเขาควายและอ่าวใหญ่ที่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรของเกาะ มีมอเตอร์ไซด์รับจ้างและให้เช่าที่บริเวณตลาด มีแผนที่แสดงแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรและแสดงลักษณะพื้นผิวของเกาะที่เป็นพื้นทราย แหล่งปะการัง และโขดหิน 
นักท่องเที่ยว สามารถนั้งแท็กซี่ ไปรีสอร์ท ตามหาดต่างๆ ได้ รู้ไหมครับว่าแท็กซี่ ก็คือ รถมอเตอร์ไซด์รับจ้างนั้นเอง
ที่นี่ไม่รถเก๋งหรือปีคอัพ คนที่นี่ไม่อยากให้มีรถใหญ่วิ่ง สภาพถนนเป็น ถนนเลนเดียวและแคบ รถมอเตอร์ไซด์วิ่งสวนกันได้ แต่รถเก๋งไม่ได้และไม่ให้วิ่ง ซึ่งประเด็นนี้ผมเองก็เห็นด้วย ขืนไปทำถนนใหญ่โต ความเจริญเข้ามามาก ธรรมชาติต้องเสียไป โดยสภาพของเกาะเองก็รับไม่ได้ ประชากรก็มีแค่ 500 คนเท่านั้น
เป็นความคิดที่ดี หากนักท่องเที่ยวจะเช่ารถมอเตอร์ไซด์ขี่ วันละแค่ 200 บาท(ไม่รวมน้ำมัน) ถึงน้ำมันจะแพง แต่คุ้มค่ากับอะไรหลายอย่างที่ได้
อะไรหลายอย่างที่ได้ หมายถึง อะไรหรือ
1) ทางที่คดเคี้ยวบ้างลาดชันบ้าง แต่ได้ชมทัศนียภาพ หากวิ่่งบนถนนริมหาด ก็ได้เห็น ชีวิตสัตว์เล็กๆ ริมทะเล ไม่ใช่บิดรถเลยไปเฉยๆ หากวิ่งบนกลางเกาะ ผ่านสวนกาหยูของชาวบ้าน เรียนรู้กับการปลูก การเก็บ การเผา การอบ เราจะรู้ว่าไม่งายเลย กว่าจะได้เม็ดมะม่วงที่แสนอร่อย
2) มีกล้วยไม้บางชนิดที่เกิดได้แถวภาคใต้ และพบได้ที่นี่
3) นั่งพักผ่อนชิลๆ บนท่าเรือ ในยามที่แสงแดดไม่ร้อน มองเห็น เกาะในฝั่งพม่า
4) ชมอาทิตย์ตกที่ อ่าวใหญ่ อ่าวเขาควาย  สวยอย่าบอกใคร
5) แวะทักทายชาวมอแกน ถึงหมู่บ้าน 
6) กิจกรรมเดินดูป่ชายเลนที่ อ่าวเขาควาย 
7) กิจกรรมบนชายหาดที่กว้างและยาวที่สุดของอ่าวใหญ่
8) ตกกลางคืน ในช่วงฤดูท่องเที่ยว (พ.ย. - มี.ค.) ปารตี้คุย ในบาร์เบียร์ ริมหาดกับชาวต่างชาติ แลกเปลี่ยนความคิด คุณจะได้อะไรดีๆ กลับไปเยอะ ฝรั่งจะรู้จักเกาะพยามดีกว่าคนไทยเราๆท่านๆเสียอีก 

พวกที่เลือกที่จะเดินทางมาที่เกาะพยามนี่ ส่วนใหญ่เป็นพวกที่หลีกหนึความเจริญจาก เกาะพีพี ภูเก็ต สมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน....
สังเกตุุได้จากรีสอร์ทที่พักส่วนใหญ่ยังเป็นบังกะโลหลังคาจากอยู่เลย ราคา ไม่ถึง 1000 บาท ห้องแอร์ไม่ค่อยมี หากมีจะเป็นไฟปั่นเองเปิด-ปิดเป็นเวลา ดีครับประหยัดพลังงานที่ไม่จำเป็น ช่วยลดปัญหาโลกร้อน

 

แนะนำอ่านกระทู้เกาะพยาม ใครมีไอเดียอะไรดีๆ ก็ช่วยกันโพส์หน่อย

ตำนานเกาะพยาม
ในสมัยก่อนการเดินทางยังไม่สะดวกเท่าปัจจุบัน เรือโดยสารมีเพียงวันละเที่ยวเท่านั้น ส่วนขากลับ ไม่มีท่าเรือโดยสาร ซึ่งถ้าอยากจะกลับขึ้นฝั่งในเมือง ก็ต้องอาศัยโบกไม้ โบกมือ ขอติดเรือที่ผ่านไปมา เรียกว่าต้องใช้ความ “พยายาม” อย่างมากในเรื่องของการเดินทาง จึงเป็นที่มาของ "เกาะพยาม"

อีกตำนาน เล่าว่า เมื่อก่อน "เกาะยาม" แห่งนี้เคยเป็นฟาร์มมุกของนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น และเนื่องจากกลัวว่าจะมีขโมยมาลักหอยมุกไป จึงต้องจ้างชาวบ้านบนเกาะให้มาเป็นยาม ทำให้ชาวบ้านเรียกเกาะแห่งนี้ว่า "เกาะยาม" แต่ไม่รู้อย่างไรจึงเพี้ยนมาเป็นเกาะพยามได้

ข้อมูลต่อจากนี้ไปผมเลือกมาบางส่วนจากกรมป่าไม้ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยว

ทรัพยากรธรรมชาติ
1. พืชพรรณ สังคมพืชในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามสามารถจำแนกออกเป็น
- ป่าชายเลน รวมเรื้อที่ประมาณ 60,625 ไร่ คิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ประกอบด้วยพันธุ์พืชถึง 35 ชนิด 18 สกุล 14 วงศ์ เช่น แสม แสมขาว แสมทะเล แสมดำ ถั่วขาว ถั่วดำ พังกาหัวสุมดอกขาว พังกาหัวสุมดอกแดง โปรงขาว โปรงแดง ตาตุ่มทะเล หลุมพอทะเล ฝาดดอกแดง ฝาดดอกขาว โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ลำพู ลำแพน ตะบูนดำ ตะบูนขาว และจาก เป็นต้น พืชพื้นล่าง ได้แก่ สำมะง่า เถากระเพาะปลา เหงือกปลาหมอดอกขาว เหงือกปลาหมอดอกม่วง ปรงทะเล ปรงหนู เป็นต้น

- ป่าดงดิบ เนื้อที่ประมาณ 18,125 ไร่ หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่พบรวม 49 ชนิด เช่น กระท้อนป่า ตำเสา ขนุนป่า ขุนไม้ ไข่เขียว เฉียงพร้านางแอ ตะเคียนทอง ตีนเป็ด เทพธาโร ทุ้งฟ้า ยมหิน สะตอ เลือดควาย หลาวชะโอน เป็นต้น พืชพื้นล่างได้แก่ หวายกำพวน หวายแดง ระกำ มอส เฟิน เป็นต้น

- ป่าชายหาด พบได้ตามแนวชายหาดบางส่วนของพื้นที่เกาะช้างและเกาะทรายดำ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สนทะเล จิกทะเล หยีทะเล เตยทะเล และปรงทะเล เป็นต้น

- ทุ่งหญ้า พบบริเวณเขายิว เกาะทรายดำ โดยจะมีหญ้าชนิดต่างๆ มีหญ้าคาเป็นหลัก


2. สัตว์ป่า สามารถจำแนกออกได้เป็น
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบด้วย ลิงแสม นากใหญ่ขนเรียบ บ่าง กระรอก กระแต หมูป่า ตุ่น พังพอน ชะมดเช็ด กระจง ลิงลม ค่างดำ ชะนีธรรมดา เสือปลา เก้ง ค้างคาวแม่ไก่เกาะหนูชนิดต่าง และโลมา
- นก สำรวจพบ 52 ชนิด เช่น กนยางชนิดต่างๆ เหยี่ยว อีกา นกนางแอ่น นกแซงแซว ไก่ป่า นกกวัก นกกินเปี้ยว นกออก นกเอี้ยง นกดุเหว่า นกแก๊ก นกขุนทอง นกเปล้า และนกกางเขนดง นกกางเขนบ้าน นกเขาไฟ นกตบยุง นกกระแตแต้แว้ด นกเป็ดน้ำ เป็นต้น
- สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย ตะกวด เหี้ย งูเห่า งูจงอาง งูเหลือม และเต่าชนิดต่างๆ
- สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประกอบด้วยกบ คางคก อึ่งอ่าง เขียด และปาด
- แมลง ได้แก่ ผีเสื้อ แมลงปอ ตั๊กแตน จิงโจ้น้ำ แมลงสาปทะเล เป็นต้น

3. ทรัพยากรทางทะเล ประกอบด้วย ปูก้ามดาบ ปูเสฉวน กุ้งแชบ๊วย กุ้งเคย กุ้งกะต่อม กุ้งดีดขัน แม่หอบ หอยตะโกรม หอยกะทิ หอยเจดีย์ หอยขาว ปลาตีน ปลากระบอก ปลากระทุงเหว ปลาข้างลาย ปลาปักเป้า ปลาสาก ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลาอินทรี แมงกระพรุน หมึก หอยเม่น ปลิงทะเล และปะการัง เป็นต้น

การท่องเที่ยว
1.แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณใกล้แนวชายฝั่ง เป็นพื้นที่กว้างใหญ่คงสภาพป่าที่สมบูรณ์ มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ซึ่งต่อกิจกรรมนันทนาการและการท่องเที่ยวรวมถึงการศึกษาวิจัย ต้นโกงกางเป็นกลุ่มของต้นโกงกางใบเล็กที่มีขาดสูงใหญ่ที่ยังคงเหลือแห่งเดียว ในประเทศไทย อยู่บริเวณทิศเหนือของเกาะยิว หาดทรายแดง บนเกาะตาวัวดำเป็นหาดทรายที่มีสีออกแดงคล้ายอิฐ เกิดจากการทับถมของ เปลือกหอยนานาชนิดที่ถูกกระแสคลื่นพัดพามาทับถมไว้เป็นเวลานาน ประกอบกับทิวทัศน์ของโขดหินและป่าเขาที่สวยงาม อ่าวปอ บริเวณทิศใต้ของเกาะทรายดำ มีลักษณะเป็นเวิ้งอ่าวที่เงียบสงบมีทิวทัศน์ของชายหาดและป่าชายเลนที่สวยงาม หาดหินงาม บริเวณรอบ เกาะไฟไหม้ พบเพียงแห่งเดียวในหลายๆเกาะ ในอุทยานแห่งชาติเกิดจากการทับถมของหินกลมมนหลายหลากสี ขนาดเล็กจำนวนมากเป็นเวลานาน เกิดแสงสะท้อนวาววับเมื่อยามกระแสคลื่นสาดซัด สะพานหินธรรมชาติ บนเกาะทะลุประติมากรรมทางธรรมชาติ โขดหินที่วางตัวสลับซับซ้อนและ หาดทรายที่ขาวสะอาดบริเวณเกาะช้าง

ในเกาะพยาม สามารถจัดให้มีกิจกรรมนันทนาการได้อย่างหลากหลายอันนำไปสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวคือ กิจกรรมนันทนาการและการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบต่างๆดังนี้ คือ

1) กิจกรรมเดินป่า ไปตามเส้นทางเดินเท้าที่ตัดผ่านเข้าไปในป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน 
2) กิจกรรมถ่ายรูปตามธรรมชาติ อันเป็นรายละเอียดที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ป่า พืชหายาก และสัตว์ต่าง 
3) กิจกรรมส่อง / ดูนก ทั้งที่เป็นนกประจำท้องถิ่น นกอพยพ และนกหายาก โดยการนั่งเรือหรือพายเรือไปตามลำคลองสายเล็กๆ ในป่าชายเลน หรือการเดินเท้าไปตามเส้นทางที่จัดให้มีขึ้น 
4) กิจกรรมแล่นเรือและศึกษาธรรมชาติ เพื่อชมทัศนียภาพของเกาะแก่ง โขดหินและป่าชายเลน 
5) กิจกรรมดำน้ำชมปะการัง เพื่อเกิดความเพลิดเพลิน และใกล้ชิดธรรมชาติใต้ทะเล 
6) กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์ บริเวณกลางป่าหรือชายหาดตามเกาะต่างๆ

2.สิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ สถานที่กางเต็นท์ ลานจอดรถ ท่าเทียบเรือ ทางเดินศึกษาธรรมชาติ พื้นที่ปิกนิก และห้องสุขารวม

ในการประกอบกิจกรรมนันทนาการในเขตอุทยานแห่งชาติไม่ว่าจะเป็น การเล่นน้ำ การนั่งเรือชมทิวทัศน์ ชมถ้ำ การดำผิวน้ำ ดูปะการัง การพักแรมค้างคืน การก่อไฟ ให้กระทำได้เฉพาะในเขตหรือบริเวณที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ควรกระทำหรือ ส่งเสียงอื้อฉาวรบกวนคนหรือสัตว์ ไม่เดินออกนอกเส้นทางถาวร ไม่สัมผัสหรือจับต้องภาพเขียนสีและหินงอกหินย้อย ตลอดจนป ฏิบัติตนตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด หรือตามที่เจ้าหน้าที่ได้ทำเครื่องหมายไว้ สำหรับผู้ที่ไปกางเต็นท์พักแรมจะต้อง เตรียมเครื่องนอน และอุปกรณ์ในการพักแรมไปเอง และต้องเก็บและทำความสะอาดที่พักให้เรียบร้อยเมื่อเลิกใช้แล้ว การก่อไฟ จะต้องไม่เก็บหรือ ตัดกิ่งไม้ยืนต้นมาใช้และต้องระมัดระวังมิให้ไฟลุกลามไปยังที่อื่น ต้องดับไฟให้สนิททุกครั้งที่เลิกใช้ และสำหรับผู้ที่พิศมัยในการดำน้ำ ดูปะการังจะต้องเตรียมอุปกรณ์ไปเอง หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. (02) 5612918-21
ข้อมูล"ทรัพยากรธรรมชาติ" จาก http://www.forest.go.th กรมอุทยานแห่งชาติ (กรมป่าไม้)