ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 3,418

วัดศรีโคมคำ

วัดศรีโคมคำ

วัดศรีโคมคำ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ถนนพหลโยธิน ห่างจากตัวเมืองไปทางเหนือประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ด้านทิศใต้ -  ทิศตะวันตก  ติดกับกว๊านพะเยา ทิศเหนือ – ตะวันออก ติดกับถนนพหลโยธิน เริ่มก่อสร้างองค์พระประธาน (พระเจ้าตนหลวง) เมื่อ  พ.ศ. ๒๐๓๔ มาสำเร็จบริบูรณ์เมื่อ พ.ศ.  ๒๐๖๗ ประมาณ ๓๓ ปี จัดเป็นวัดโดยสมบูรณ์ การก่อสร้างในสมัยนั้น พระเมืองตู้ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยาผู้ทรงอุปถัมภ์

ในกาลต่อมาหัวเมืองต่าง ๆ ของล้านนาไทยหลายหัวเมืองถูกข้าศึกพม่าเข้ารุกราน  ทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินแก่ข้าศึก  แม้ทรัพย์สินของพระ ศาสนาก็ต้องทอดทิ้งปล่อยให้ปรักหักพัง  บ้านเมืองรกร้างว่างเปล่าอยู่ประมาณ ๕๖ ปี ถึง พ.ศ. ๒๓๘๗ ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพุทธวงศ์   เมืองลำปาง  เป็นพระยาประเทศอุดรทิศ  ขึ้นมาครองเมืองพะเยา ทรงตั้งนายมหายศ เป็นพระยาอุปราช  ครั้นพระยาประเทศอุดรทิศถึงแก่อนิจกรรมไปทรง  โปรดเกล้าฯ  นายมหายศขึ้นครองเมืองพะเยาแทน ทรงตั้งเจ้าบุรีรัตน์ขั้นเป็นพระยาอุปราชแทน  ท่านทั้งสองได้เริ่มบูรณะองค์พระประธาน และบูรณะวัด  ศรีโคมคำขึ้นใหม่  เริ่มก่อสร้างพระวิหารและเสนาสนะขึ้นมีสภาพเป็นวัดสมบูรณ์  ต่อจากนั้นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยาอีกพะเยาอีกหลายองค์ เช่น เจ้าหลวง อินทะชมพู เจ้าหลวงขัตติยะ เจ้าหลวงชัยวงศ์  จนถึงองค์สุดท้าย คือ พระยาประเทศอุดรทิศ (มหาชัย ศีติสาร) ครองเมืองพะเยา ทุกองค์ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดศรีโคมคำ

พระวิหารหลังเก่าสร้างมานานชำรุดทรุดโทรม พระยาประเทศอุดรทิศทรงรื้อแล้วก่อสร้างใหม่ โดยนายพัฒน์เป็นช่างก่อสร้างก่อสร้างเป็นเวลานานไม่เสร็จนายช่างพัฒน์มาถึงแก่กรรมไป จึงทอดทิ้งไว้  ครั้นต่อมาการปกครองบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงจากเจ้าผู้ครองเมืองมาเป็นระบบการปกครองเป็นมณฑล เรียกมณฑลพายัพ กระจายอำนาจการบริหารออกเป็นจังหวัด อำเภอ  ตำบลหมู่บ้าน ตำแหน่งเจ้าผู้ครองก็เลิกร้างไป พระยาประเทศอุดรทิศกราบบังคมลาออกจากตำแหน่งทางการ จึงตั้งนายคลาย  บุษยบรรณ มาเป็นนายอำเภอเมืองพะเยา ในสมัยนั้นพระยาประเทศอุดรทิศแม้พ้นจากตำแหน่งแล้วก็ยังให้การอุปถัมภ์วัดศรีโคมคำเช่นเดิม มิได้ทรงทอดทิ้ง

ขณะนั้นได้ทราบกิตติศัพท์ว่า ครูบาพระศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยเกิดขึ้น ท่านสังกัดอยู่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนท่านมีบารมีธรรมสูง  ทำการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์โบราณวัตถุสถาน  ในเขตท้องที่จังหวัดลำพูน -  เชียงใหม่  มีประชาชนเลื่อมใสมาก ข่าวนี้ได้แพร่สะพัดทั่วไปในแถบ ล้านนาไทย  จึงได้ประชุมปรึกษากัน ทางฝ่ายคณะสงฆ์มีพระครูศรีวิราชวชิรปัญญาเจ้าคณะแขวงเมืองพะเยาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมืองมีพระยาประเทศอุดรทิศ อดีตเจ้าผู้ครองเมือง และนายคลาย  บุษยบรรณ  นายอำเภอเมืองพะเยา พร้อมด้วยพ่อค้า คหบดีประชาชนต่างก็มีความเห็นชอบพร้อมเพรียงกัน จังไปอาราธราครูบาศรีวิชัยมาเป็นประธานก่อสร้างพระวิหารวัดศรีโคมคำ โดยใช้ให้พระปัญญา วัดบ้านปิน  และจ่าสิบตำรวจเอกอ้าย  พูนชัยไป อาราธนานิมนต์ท่านมาสร้างพระวิหาร ท่านสอบถามถึงประวัติความเป็นมาของพระเจ้าตนหลวงว่าเป็นมาอย่างไร เมื่อได้รับทราบตำนานว่าเป็นโบราณ    วัตถุอันเก่าแก่มีกลักฐานแน่นอน ท่านจึงรับว่าจะมานร้าง แต่มีเงื่อนไขว่า ให้คณะสงฆ์และประชาชนชาวพะเยาเตรียมวัสดุไว้ให้พร้อม อาทิ  อิฐ ปูน ทราย  หิน  เหล็ก  ไว้ให้พร้อม

พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา จึงได้ประชุมปรึกษาคณะสงฆ์  เจ้าคณะหมวด เจ้าอาวาส  ภิกษุสามเณรทุกวัดวาอาราม  เข้ามาตั้งปางกระท่อม ปั้นอิฐก็ได้ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐  ก้อน  ทราย  หิน  โดยขอความร่วมมือผู้มีกำลังต่างก็หามาไว้จนครบถ้วนแล้วไปอาราธนาท่านอีกครั้งหนึ่ง     เมื่อวัสดุอุปกรณ์ครบถ้วยแล้ว   ท่านรับนิมนต์ทันทีแล้วเตรียมเอาพระภิกษุผู้ชำนาญการกรอสร้างมาเป็น บริวาร  ออกเดินทางมาจากจังหวัดลำพูนตาม ลำดับเส้นทางจนถึงเมืองพะเยา เมื่อวันที่ ๒๕  ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕  ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ เหนือ

วันที ๒๘  ธันวาคมพ.ศ. ๒๔๖๕  ขึ้น ๑๑ ค่ำ  เริ่มลงมือรื้อพระวิหารหลังเก่าจนเสร็จเรียบร้อย

วันเสาร์ที่ ๖ มกราคมพ.ศ. ๒๔๖๖ ตรงกับวัน ๗ ฯ ๒ ค่ำ ปี จอ จุลศักราช๑๒๔๘  วางศิลาฤกษ์ ลงเสาพระวิหารใหญ่ต่อจากนั้นก็เทเสราพระวิหารต้นอื่น  ต่อไป ขุดรากฝาผนัง ก่อฝาผนัง และก่อกำแพงล้อมรอบ สร้างศาลาบาตร (ศาลาราย)  รอบกำแพงวัดสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร พระพุทธบาทจำลอง    สร้างพร้อมกันทั้งหมดทุก ๆ หลังในคราวเดียวกัน  และก่อสร้างภายในปีเดียวเหมือนเนรมิต คิดค่าก่อสร้างเป็นจำนวน ๑๑๓,๐๐๐  รูปี  (รูปีหนึ่งคิดราคา  ๗๕ สตางค์)

ครั้นวันที่ -  มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๖๗  ทำบุญฉลองพระวิหารพร้อมกับศาสนาวัตถุอื่น ๆ ที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทำบุญฉลองพระวิหารนานประมาณ ๑ เดือน จึงแล้วเสร็จ หลังจากทำบุญฉลองแล้วครูบาพระศรีวิชัยก็กลับไปจังหวัดเชียงใหม่เริ่มสร้างวิหารวัดสวนดอก  จังหวัดเชียงใหม่  จึงได้มอบหมายให้พระครูบาแก้ว คนฺธวํโส เป็นผู้รับภาระธุรการดูแลรักษาโบราณวัตถุและพระวิหารแทน

วัดศรีโคมคำ ได้สร้างมานานประมาณ พ.ศ. ๒๐๓๔  ตั้งแต่เริ่มสร้างพระเจ้าตนหลวงมาแล้ว เจ้าอาวาสองค์แรกที่ปรากฏในตำนานคือพระธรรมปาล  ท่านผู้นี้ได้ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ คือได้เขียนตำนานพระเจ้าตนหลวงออกเผยแพร่แก่ประชาชนที่หนีภัยสงครามแล้วกลับเข้ามาสู่เมืองพะเยา ภายหลังได้    ทราบเรื่องราวตำนานนี้แล้วก็เกิดศรัทธาปสาทะยิ่งใหญ่ อยู่ต่อมาอีกประมาณ ๔๐๔  ปี จุลศักราช ๑๒๑๙  พ.ศ. ๒๔๐๐  พระกัปปินะเป็นเจ้าอาวาสอักครั้งหนึ่ง มีบันทึกในหนังสือสมุดข่อย บันทึกไว้ว่า แสนทักขิณะ เขียน ดวงชาตาพระเจ้าตนหลวง  มีพระธรรมปาละ เขียนไว้ให้ท่านได้รับทราบ  แสดงว่าวัดศรี  โคมคำเป็นวัดมาแต่โบราณกาล  แต่มาในยุคหลังบ้านเมืองตกอยูู่ในช่วงสงคราม จึงโยกย้ายไปอยู่ตามหัวเมืองที่ปลอดภัยจากข้าศึก ทำให้บ้านเมือง  วัดวาอารามรกร้างว่างเปล่าไป  ต่อมาภายหลังได้สถาปนาเมืองพะเยาขึ้น บ้านเมือง วัดวาอารามก็ถูกบูรณะก่อสร้างขึ้นโดยลำดับ

วัดศรีโคมคำ เริ่มก่อสร้างขึ้นหลังสุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕  พระครูศรีวิราชปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมือง  อดีตเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา  พระยาประเทศอุดรทิศ  และอดีตนายอำเภอเมือพะเยา  คือ หลวงสิทธิประสาสน์ (นายคลาย  บุษยบรรณ)  นายอำเภอเมืองพะเยาคนแรก ได้ร่วมใจกันอาราธนานิมนต์พระครูบาศรีวิชัย  จังหวัดลำพูน มาเป็นประธานนั่งหนักในการก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ จนสำเร็จบริบูรณ์ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ท่านก็มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ลำดับเจ้าอาวาสมีดังนี้

พ.ศ. ๒๔๖๕ -  ๒๔๖๗  พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยาเป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. ๒๔๘๘  -  ๒๕๐๖  ครูบาปัญญา   ปญฺโญ  เป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๐๙  ครูบาแก้ว  คนฺธวํโส  เป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. ๒๕๐๙  พระโสภณธรรมมุนี เจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา  ( พระธรรมวิมลโมลี)เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ และได้รับแต่งตั้ง เป็นเจ้าอาวาส  เมื่อวันที่ ๒๕  พฤษภาคม  พุทธศักราช ๒๕๑๑  จนถึงปัจจุบัน

ประวัติและคำแนะนำอื่นๆเพิ่มเติม
https://www.thai-tour.com/wb/view_topic.php?id_topic=209


วัดศรีโคมคำ

บรรยากาศภายในวัดศรีโคมคำ

วัดศรีโคมคำ