ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 3,567

วัดพระธรรมกาย

วัดพระธรรมกาย

วัดพระธรรมกาย เป็นวัดในประเทศไทยก่อตั้งเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 สังกัดมหานิกายแห่งคณะสงฆ์ไทย ตั้งอยู่ ณ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีปัจจุบันมีพระราชภาวนาวิสุทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสและอธิบดีสงฆ์ของวัด
 
 ประวัติ
 วัดนี้ได้ประกาศเป็นวัดโดยกระทรวงศึกษาธิการตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ในชื่อ "ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม" และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดวรณีธรรมกายาราม" ซึ่งมาจากชื่อของ วรณี สุนทรเวช ผู้บริจาคสถานที่ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "วัดพระธรรมกาย" เหมือนในปัจจุบัน

วัดพระธรรมกายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดโดยสมบูรณ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 15 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดยมีพระอธิการไชยบูลย์ ธมฺมชโย (ปัจจุบันเป็น พระราชภาวนาวิสุทธิ์) เป็นเจ้าอาวาส และมีพระเผด็จ ทตฺตชีโว (ปัจจุบันเป็นพระภาวนาวิริยคุณ) เป็นรองเจ้าอาวาส

     มูลนิธิธรรมกาย จัดตั้งขึ้นขึ้นก่อนที่วัดจะก่อตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เดิมใช้ชื่อว่า "มูลนิธิธรรมประสิทธิ์" โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ณ กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2513 เมื่อสร้างวัดพระธรรมกายเสร็จได้ขอแก้ไขเอกสาร เปลี่ยนชื่อเป็น "มูลนิธิพระธรรมกาย" เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2525 ณ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี และเพื่อไม่ให้สับสนกับชื่อวัด จึงจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจาก มูลนิธิพระธรรมกาย เป็น "มูลนิธิธรรมกาย" โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ตามหนังสือที่ ศธ 1304/6088 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2528

สถาปัตยกรรมในวัดพระธรรมกาย
มหาธรรมกายเจดีย์ เจดีย์รูปโดมทรงกลมแบบสาญจิเจดีย์ ประกอบด้วย 3 ส่วน ซึ่งสื่อถึง พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ภายนอกของมหาธรรมกายเจดีย์ส่วนพุทธรัตนะมีการเรียงต่อองค์พระธรรมกายประจำตัวที่สลักชื่อเจ้าของไว้จำนวน 300,000 องค์ ส่วนภายในมหาธรรมกายเจดีย์บรรจุพระธรรมกายประจำตัว จำนวน 700,000 องค์ฐานขององค์พระจารึกนามของผู้บริจาคเพื่อสร้างองค์พระธรรมกายประจำตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งมหาธรรมกายเจดีย์ออกแบบด้วยหลักวิศวกรรมให้คงอยู่ได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันปี และเป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีกลางแจ้ง ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจะมีสาธุชนจากทั่วโลกเดินทางมาร่วมบุญหลาย แสนคน และในทุกวัน เวลา 06.00 น. และ 18.00 น. มีพิธีบูชามหาธรรมกายเจดีย์ สาเหตุที่มหาธรรมกายเจดีย์มีรูปทรงที่ไม่เหมือนกับเจดีย์ทั่วไป ทั้งนี้การบอกเล่าของพระสงฆ์ และหมู่คณะวัดพระธรรมกายคือ มหาธรรมกายเจดีย์ เป็นรูปทรงของ "อายตนนิพพาน" ที่ค้นพบด้วยธรรมปฏิบัติชั้นสูงด้วยวิชชาธรรมกาย ส่วนลักษณะขององค์พระธรรมกาย ได้ถอดแบบจากกายมหาบุรุษ ที่ได้เห็นแจ้งด้วยธรรมปฏิบัิติชั้นสูงตามแนววิชชาธรรมกายเช่นกัน
- มหารัตนวิหารคด อาคารสองชั้นในรูปแบบคล้ายสเตเดียม ความยาวด้านละ 1 กิโลเมตร รอบมหาธรรมกายเจดีย์ ทั้งสี่ด้านคาดว่าสามารถจุคนได้หนึ่งล้านคน เป็นสถานที่รวมพุทธบุตรและพุทธบริษัท 4 ทั่วโลกนับล้านให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อพบปะสนทนาธรรมและร่วมกันสร้างสันติสุข ให้บังเกิดขึ้นบนโลกของเรา
- มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี อาคารรูปทรงกลมแบบสาญจิเจดีย์คล้ายจานคว่ำเหมือนมหาธรรมกายเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เพื่อสักการบูชาและระลึกถึงพระคุณของท่าน ภายในมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี บรรจุเรื่องราวอัตชีวประวัติของท่าน เพื่อให้สาธุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า
 - อุโบสถวัดพระธรรมกาย มีรูปลักษณ์แบบศิลปไทยประุยุกต์ ออกแบบโดยยึดหลักความเรียบง่ายและมีความสง่า โดยได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2541 จาก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
 - สภาธรรมกายสากล อาคารปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ พื้นที่กว่า 150 ไร่ ประกอบด้วยชั้นที่ 1 เป็นชั้นจอดรถ และ ชั้นที่ 2 ใช้เป็นสถานที่สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่่งใช้ในงานบุัญทุกวันอาทิตย์ และงานบุญใหญ่ของวัดตลอดทั้งปี สามารถจุคนได้ประมาณ 300,000 คน
วิหารคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง วิหารทรงพีระมิดหกเหลี่ยมทองคำ ภายในเป็นห้องหยกประดิษฐานรูปหล่อทองคำ คุณยายอาจารย์มหาอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
 - หอฉันคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง อาคารชั้นล่างโปร่ง มีส่วนสำนักงาน 4 ชั้น ส่วนของหลังคาสร้างเป็นยอดรูปทรงกลมคล้ายมหาธรรมกายเจดีย์ ภายในรูปทรงกลมเป็นภาพของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง หอฉันฯ ถูกใช้เป็นที่ฉันภัตตาหารของภิกษุ สามเณร เป็นโรงทานแก่ญาติโยมที่มาถวายภัตตาหาร รวมถึงประยุกต์ใช้ในการประกอบพิธีกรรมของวัด เช่น การถวายกองทุนโคมมาฆประทีป การถวายกองทุนผ้าไตรจีวร การถวายกองทุนผ้าอาบน้ำฝน การถวายกองทุนคิลานเภสัช การถวายกองทุนเครื่องกันหนาว รวมถึงใช้เป็นสถานที่เตรียมงานบุญใหญ่ของวัด เช่น การพับผ้าไตรจีวรจำนวนมากที่ใช้ประกอบพิธีอุปสมบทหมู่รุ่นต่างๆ การพับและเตรียมกระดาษชำระและช้อนส้อม เพื่อใช้ในงานวันคุ้มครองโลกซึ่งตรงกับวันเกิดของ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ คือ 22 เมษายน ของทุกปี
 - อาคารภาวนา 60 ปีพระราชภาวนาวิสุทธิ์ 
 - อาคารรูปทรงกลมคล้ายมหาธรรมกายเจดีย์ เป็นสถานที่ปฏิบัติวิชชาธรรมกายชั้นสูง มิได้ให้บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าออก
 - อาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง อาคารรูปทรงกลม เริ่มก่อสร้างปลายปี 2552(ยังไม่แล้วเสร็จ) เพื่อให้เป็นสำนักงานใหญ่ของวัด ห้องประชุมด้านวิชาการด้านพระปริยัติธรรมขนาดใหญ่ ห้องปฏิบัติธรรมสำหรับบรรพชิต อุบาสก อุบาสิกา ขนาดใหญ่ พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับมหาปูชนียาจารย์