ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 2,308

จันเสนเมืองโบราณ

ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลจันเสน สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยทวารวดี บริเวณเมืองโบราณมีคูเมืองเป็นเนินดินโดยรอบ เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่มุมทั้งสี่เป็นรูปมนจนเกือบเป็นวงกลม ล้อมรอบด้วยคูเมืองซึ่งกว้างประมาณ 20 เมตร ปัจจุบันยังมีสภาพเป็นที่ลุ่มน้ำขัง แต่ยังเป็นร่องรอยพอมองเห็นเค้าคูเมืองได้อย่างชัดเจน มีความยาวประมาณ 800 เมตร กว้าง 700 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่เศษ เนื่องจากบริเวณภายในคูเมืองดังกล่าวมีลักษณะเป็นเนินสูงกว่าพื้นที่รอบนอก คูเมือง ชาวบ้านเรียกว่า “โคกจันเสน”
 
 ในบริเวณเมืองโบราณได้ขุดพบโบราณวัตถุหลายอย่าง ประเภทที่ทำด้วยเศษดินเผา อาทิ พระพิมพ์ต่าง ๆ ตุ๊กตา ตะเกียง ประเภทที่ทำด้วยหิน ได้แก่ ฐานบัว ธรรมจักร ขวานหินขัดที่ทำด้วยโลหะ มีตุ้มหูทำด้วยตะกั่วหรือดีบุก ใบหอกที่ทำด้วยสำริด ปัจจุบันโบราณวัตถุดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์จันเสน ซึ่งตั้งอยู่ในวัดจันเสน
 
 เริ่มก่อสร้างโดยพระครูนิสัยจริยคุณ หรือที่ชาวยบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อโอด" ได้มีดำริที่จะสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางชุมชน ภายในจัดให้มีส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อใช้แสดงเรื่องราวของจันเสนในอดีต พร้อมกันไปด้วยพระครูนิวิฐธรรมขันธ์หรือหลวงพ่อเจริญ เจ้าอาวาสรูปต่อมาเป็นกำลังสำคัญ ที่สานต่องานพิพิธภัณฑ์จนเสร็จสมบูรณ์ โดยงบประมาณในการก่อสร้างนั้น ได้มาจากแรงศรัทธาของประชาชน
 
 จันเสนเมืองโบราณ หลวงพ่อโอด อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน ซึ่งท่านมรณภาพไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ท่านเป็นผู้มุ่งมั่นที่จะสร้างมณฑปเจดีย์ขึ้น โดยมีความมุ่งหมายว่า
 
 1. ส่วนยอดของมณฑปเจดีย์จะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
 
 2. องค์เรือนธาตุประดิษฐาน "หลวงพ่อนาค" พระพุทธรูปปางนาคปรกที่นำมาจากเมืองลพบุรี เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชุมชน
 
 3. อาคารส่วนฐานของพระมหาเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของท่าน และเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองจันเสน
 
 พระมหาธาตุเจดีย์จันเสน อยู่ในห้องชั้นฐานของพระมหาธาตุเจดีย์ การออกแบบได้ใช้ลักษณะ ของสถูปในสมัยทวารวดี เป็นพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบ ใช้รายละเอียดของลวดลาย ทางสถาปัตยกรรมในสมัยทวารวดี ซึ่งมีคำจารึกที่ฐานพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันสน ให้ผู้สนใจได้อ่านประวัติความเป็นมาด้วย
 
 พิพิธภัณฑ์นี้ เปิดให้เข้าชมในวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้ที่ต้องการเข้าชมในวันธรรมดา สามารถติดต่อทางวัดให้เปิดเข้าชมได้ มีเยาวชนอาสาสมัครจากโรงเรียนวัดจันเสน และโรงเรียนจันเสนเอ็งสุวรรณอนุสรณ์ บริการนำเที่ยวภายในบริเวณเมือง และนำชมภายในพิพิธภัณฑ์ด้วย
 
 สอบถามรายละเอียดโทร. 0 5633 9115-6
 นอกจากนี้ในวัดยังมี การรวมกลุ่มของสตรีบ้านจันเสน เพื่อทอผ้าด้วยกี่กระตุก และจัดตั้งเป็นศูนย์จำหน่ายภายในวัดด้วย ผ้าทอส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้าย ผ้าทอมัดหมี่จันเสน และผ้ามัดย้อม
 

 

 

การเดินทาง

 การเดินทาง จากกรุงเทพฯใช้ทางหลวงหมายเลข 32 เลี้ยวซ้ายเข้าอินทร์บุรี (ทางหลวงหมายเลข 11) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3196 เลี้ยวซ้ายตรงป้ายวัดจันเสนเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ข้ามทางรถไฟแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าวัดจันเสน
 จากนครสวรรค์ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 มุ่งสู่จังหวัดชัยนาท ระยะทางประมาณ 52 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าอำเภอตาคลี ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3196 ระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตร เลี้ยวขวาก่อนข้ามทางรถไฟเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร สู่วัดจันเสน