ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 12,682

วัดช้างเผือก

วัดช้างเผือก

เป็นที่ประดิษฐานศพของพระครูพชราจารย์ หรือหลวงพ่อทบ ที่บรรจุศพอยู่ในโลงแก้ว ซึ่งศพของท่านไม่เน่าเปื่อย และเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์และผู้ที่เดินทางผ่าน ในเดือนมีนาคมจะมีงานประจำปีครบรอบวันมรณภาพของหลวงพ่อทบเป็นประจำทุกปี การเดินทาง จากตัวเมืองเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข21 ถึงสามแยกวังชมพูเลี้ยวซ้านไปตามเส้นทางอำเภอหนองไผ่ อยู่ระหว่างกิโลเมตรที่118 ก่อนถึงสามแยกบ้านนายมซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าวัดไปอีกประมาณ 700 เมตร

ประวัติของหลวงพ่อทบ
 พระเกจิดังๆ นั้นมีมาหลายยุคหลายสมัยโดยเฉพาะในช่วงโบราณกาล เรามักจะเคยได้ยินเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับพระหลายๆ ท่านถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏแก่สายตายชาวบ้าน อาทิ คาถาอาคมของสมเด็จโตที่สะกดวิญญาณนางนาคให้สงบลงได้ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำจืด พระที่ศักดิ์สิทธิ์ก็ยังคงมีมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักกีฬา หรือนักธุรกิจก็มักนิยมไปให้หลวงพ่อคูณเคาะศีรษะเพื่อความเป็นสิริมงคล
        
 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีเรื่องราวพระที่ศักดิ์สิทธิ์นามว่า “พระครูวิชิต พัชราจารย์” หรือที่ชาวบ้านเรียกท่านว่า “หลวงพ่อทบ”
        
 หลวงพ่อทบเกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2424 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ท่านเป็นบุตรของนายเผือก และนางอินทร์ ม่วงดี มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่บ้านยางหัวลม ตำบลวังชมภู
        
 สมัยเด็กหลวงพ่อทบท่านชอบศึกษาเล่าเรียนภาษาขอม และวิชาอาคมต่างๆ เมื่ออายุได้ 16 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดช้างเผือก ตำบลนายม (วังชมภู) อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ จนอายุครบ 21 ปี ก็อุปสมบท ณ วัดเกาะแก้ว และได้รับฉายาว่า “ธมฺ มปฺ โญ ภิกขุ” เมื่ออุปสมบทแล้วก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดช้างเผือก 2 ปีจากนั้นก็ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดวังโป่งอีก 2 ปี และท่านก็ได้ออกธุดงค์ไปตามป่าลึกทั้งในประเทศพม่า ลาว และเขมร แล้วฝึกวิชาอาคมต่างๆ
        
 ตอนที่หลวงพ่อทบออกธุดงค์นั้นก็ต้องพบเจอกับสัตว์ป่านานาชนิด จนบางครั้งมีฝูงช้างป่าและเสือโคร่ง มาหากินและนอนอยู่ข้างกลด ท่านก็ได้แผ่เมตตาให้และภาวนาว่า “เอ็งหากิน ข้าก็หากิน เอ็งก็อยู่ ข้าก็อยู่ เมื่อมาก็ดีแล้ว จงนอนเสียเถิด” สัตว์ป่าเหล่านั้นก็นอนตามปกติโดยที่ไม่รบกวนหลวงพ่อทบเลย
        
 เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อยังคงมีปรากฏให้เห็นอีกเรื่อยมา ครั้งหนึ่งมีชายวิ่งมาขอความช่วยเหลือจากหลวงพ่อ บอกว่ามีคนจะตามฆ่าเพราะไปรู้เรื่องการปล้นของเขา หลวงพ่อก็หยิบเอาเศษไม้ที่ถากทิ้งไว้ขึ้นมาเสกเป่าคาถา แล้วยื่นให้ชายผู้นั้น แล้วบอกว่าถ้ามีคนเข้ามาให้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องพูดอะไร สักพักก็มีกลุ่มคนวิ่งเข้ามาถามหลวงพ่อว่าเห็นคนวิ่งมาทางนี้หรือเปล่า หลวงพ่อไม่อยากโกหกจึงตอบไปว่า “ถ้ามีเอ็งก็เห็นแล้วซิ” ชายกลุ่มนั้นไม่พอใจจึงหันปืนยิงใส่หลวงพ่อ แต่ปืนกลับยิงไม่ออก กลุ่มโจรจึงก้มกราบและขออภัยที่ล่วงเกิน
        
 ชื่อเสียงของหลวงพ่อทบเริ่มเป็นที่รู้จักต่อประชาชนทั่วๆ ไป เริ่มเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อ คือ เป็นพระที่เคร่งปฏิบัติศีล สมาธิดี แถมยังเป็นพระนักพัฒนาสร้างวัด สร้างโบสถ์ หลายแห่ง นอกจากนี้ยังได้สร้างพระเครื่อง และเครื่องรางของขลังไว้ปกป้องคุ้มครองชาวบ้านให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง
        
 หลวงพ่อทบจำวัดอยู่ที่วัดพระพุทธบาทถึง 19 ปี ได้สมณศักดิ์เป็น “พระครู วิชิต พัชราจารย์” คุณลักษณะของท่านที่ได้รับการกล่าวขานคือ “หลวงพ่อทบ วาจาสิทธิ์ แห่งวัดพระพุทธบาทชนแดน”
        
 ช่วงบั้นปลายชีวิตของหลวงพ่อทบท่านได้กลับมาพัฒนาที่วัดช้างเผือก ซึ่งขณะนั้นกลายเป็นวัดร้าง ให้กลับมาเจริญรุ่งเรือง วันหนึ่งหลวงพ่อทบนั่งคุยกับญาติโยม ศิษยานุศิษย์ ท่านพูดขึ้นมาลอยๆ ว่า “ถ้าหลวงพ่อเสียชีวิต ขอให้นำศพไว้ที่วัดช้างเผือกไม่ต้องเผา ต่อไปวันข้างหน้าจะมีผู้มาช่วยพัฒนาวัดช้างเผือกเอง”
        
 หลวงพ่อทบมรณภาพเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2519 เวลาประมาณเที่ยงวัน แต่สรีระของท่านกลับไม่เน่าเปื่อยเหมือนกับพระเกจิดังๆ ทั่วไป ปัจจุบันสรีระของท่านเก็บรักษาไว้ในโรงแก้วภายในมณฑป ณ วัดช้างเผือก ให้ผู้ที่ไปเที่ยวสามารถเคารพสักระบูชาได้ โดย “วัดช้างเผือก” ตั้งอยู่ที่ ต.วังชมภู อ.เมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ก่อนถึงสามแยกวังชมภูประมาณ 2 กม. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.ภาคเหนือ เขต 3 โทร. 0-5525-2743,0-5525-9907


วัดช้างเผือก

วัดช้างเผือก

วัดช้างเผือก

วัดช้างเผือก

ที่เที่ยวแนะนำ

-- ดูเพิ่ม --