ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 236

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

        วัดระฆังโฆสิตาราม เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คู่กับวัดบางหว้าน้อย คือ วัดอมรินทราราม ปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงกู้อิสรภาพของไทยกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พร้อมกับตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๑

        พุทธศักราช ๒๓๑๒ หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์แล้วก็ทรงใฝ่พระทัยเป็นธุระในพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ยกวัดบางหว้าใหญ่ซึ่งเดิมเป็นวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง และทรงมีพระราชปรารภว่า พระไตรปิฎกคงกระจัดกระจายเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า เพราะพม่าได้เผาบ้านเมืองและวัดวาอารามพินาศลง จึงมีพระราชประสงค์จะรวบรวมชำระสอบทานพระไตรปิฎกนั้นให้ถูกต้องครบถ้วนตามเดิม และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งยังมีบริบูรณ์อยู่เพราะพม่ายังไปทำลายไม่ถึง ประจวบกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทำสงครามที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเสร็จราชการสงครามแล้วได้ทรงพบพระอาจารย์รูปหนึ่งมีชื่อว่า พระอาจารย์สี แต่เดิมพระอาจารย์สีรูปนี้อยู่ประจำที่วัดพนัญเชิง แขวงเมืองกรุงเก่า เป็นผู้มีความสามารถแตกฉานในพระไตรปิฎก ทั้งเป็นผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ ซึ่งพระองค์ทรงรู้จักดี เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว ท่านได้หลีกไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้รวบรวมพระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชได้แล้ว เสด็จกลับกรุงธนบุรีพร้อมกันนั้นก็ได้อาราธนาพระอาจารย์สีร่วมมาในขบวนนั้นด้วยและโปรดเกล้าฯ ให้ครองวัดบางหว้าใหญ่ พร้อมทั้งทรงตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชด้วย

        กาลต่อมาได้มีพระราชดำรัสสั่งให้พระเถรานุเถระมาประชุมกันที่วัดบางหว้าใหญ่อีก แล้วทรงอาราธนาให้พระเถรานุเถระทั้งหลาย มีสมเด็จพระสังฆราช (สี) เป็นประธาน ทรงขอให้รับธุระสอบทานพระไตรปิฎกจึงได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกจนสำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ เป็นต้นฉบับที่ถูกต้องตามพระราชประสงค์ ณ วัดบางหว้าใหญ่

        สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระชนม์ได้ ๓๓ พรรษา รับราชการอยู่ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็น พระราชวรินทร์ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ทรงย้ายจากบ้านอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้ๆ กับพระราชวังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ปัจจุบันคือกรมอู่ทหารเรือ) ต่อมาได้รับพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้เป็นแม่ทัพไปตีเมืองโคราช ท่านจึงสั่งให้รื้อหอพระตำหนักกับหอประทับนั่งมาปลูกถวายไว้ที่วัดบางหว้าใหญ่ ทางด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถ หลังคามุงจาก ฝาสำหรวดกั้นห้องด้วยกระแชง ทั้งนี้ตามความตั้งพระทัยไว้แต่เดิมว่าจะยกถวายวัด (ปัจจุบัน พระอุโบสถหลังเก่ายกขึ้นเป็นพระวิหาร เป็นสถานที่ให้เช่าพระ) เมื่อล่วงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้วได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาตั้งใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกชื่อว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช (สี) ที่ถูกถอดยศในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี มาครองวัดบางหว้าใหญ่ตามเดิม และรับสั่งให้พระสงฆ์วัดบางหว้าใหญ่และวัดโพธาราม (ปัจจุบัน คือ วัดพระเชตุพน อยู่ตรงท่าเตียน) เข้ารับบิณฑบาตในพระราชวัง ผลัดเวรกันวัดละ ๗ วัน สมเด็จพระสังฆราช (สี) นี้ จึงนับว่าเป็นปฐมสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

        ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเจริญด้วยพระราชศรัทธาทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นค่าจ้างจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลานเป็นอักษรขอม เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปถวายไว้ตามพระอารามหลวงทุกพระอาราม ยิ่งกว่านั้นทรงมีพระราชดำริว่า “มูลฐานแห่งพระพุทธศาสนาคือพระไตรปิฎก ควรจะได้ชำระสอบทานเสียใหม่ อย่าให้อักขระพยัญชนะวิปลาสคลาดเคลื่อน ถ้าทิ้งไว้นานไปเบื้องหน้า สิ้นพระเถรานุเถระเหล่านี้แล้วพระไตรปิฎกจะวิปลาส การพระศาสนาจะเสื่อมโทรม” ฉะนั้น จึงได้เลือกพระภิกษุผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกได้ ๑๘ รูป ราชบัณฑิตอีก ๓๒ ท่าน เป็นคณะที่จะทำสังคายนาพระไตรปิฎก และได้มีพระราชดำรัสสั่งให้จัดวัดนิพพานาราม ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระศรีสรรเพชญดาราม (ปัจจุบัน คือ วัดมหาธาตุ อยู่ใกล้ๆ ท่าพระจันทร์) เป็นสถานที่ทำสังคายนา ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ ปีวอก สัมฤทธิศก พุทธศักราช ๒๓๓๑ เวลาบ่าย ๓ นาฬิกา มีพระราชดำรัสสั่งให้อาราธนาพระสงฆ์การกะ มีสมเด็จพระสังฆราช (สี) เป็นประธาน ประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญดาราม พระสงฆ์เถรานุเถระทั้งปวงพร้อมด้วยราชบัณฑิตประชุมกันชำระสอบทานพระไตรปิฎก สิ้นเวลาถึง ๕ เดือน จึงเสร็จการสังคายนาสมพระราชประสงค์ นับเป็นครั้งที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งวัดบางหว้าใหญ่ได้เป็นประธานร่วมกิจพระศาสนาในครั้งนั้น

        อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อได้ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกในการสังคายนาแล้ว ได้มีพระราชปรารภถึงพระตำหนักและหอประทับนั่งที่ได้รื้อไปปลูกไว้ที่วัดบางหว้าใหญ่ สมัยที่พระองค์ทรงพระยศเป็นพระราชวรินทร์ รับราชการในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระราชประสงค์จะปฏิสังขรณ์ปรับปรุงให้มั่นคงสวยงามยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีพระราชประสงค์จะยกขึ้นเป็นหอพระไตรปิฎก จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สืบถามเรื่องระฆังของวัดบางหว้าใหญ่ซึ่งเป็นระฆังที่มีเสียงไพเราะยิ่งนัก ที่ขุดได้ในวัดนั้นว่าขุดได้ ณ ที่ใด และได้ทรงทราบจากพระเถระผู้เฒ่าว่า ขุดได้ทางทิศพายัพของพระอุโปสถ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระอุโบสถหลังเก่า) จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ขุดสระขึ้นในที่ขุดเจอระฆังนั้น โดยรับสั่งให้สร้างเขื่อนรอบสระ เรียงอิฐก่อด้วยดินเหนียว (ปัจจุบันนี้ทางวัดได้เอาปูนโบกกั้นกันดินทลายลง) เมื่อปรับปรุงสถานที่เสร็จแล้ว จึงรับสั่งให้รื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด หอด้านใต้ลักษณะเป็นหอนอน หอกลางเป็นห้องโถง หอด้านเหนือเข้าใจว่าเป็นห้องรับแขก ของเดิมเป็นหลังคามุงจาก ได้เปลี่ยนเป็นมุงกระเบื้อง ชายคาเป็นรูปเทพพนมเรียงรายเป็นระยะๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดไม้ขัดแตะเสียบกระแชงเป็นขัดด้วยหน้ากระดานไม้สักระหว่างลูกสกล ใช้แผ่นกระดานไม้สักเลียบฝาภายในแล้วเขียนรูปภาพต่างๆ บานประตูด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางด้านตะวันออกแกะเป็นลายกนกวายุภักษ์ ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานซุ้มประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ภายนอกติดคันทวยสวยงามเสร็จแล้วทรงสร้างตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ๒ ตู้ เพื่อให้สมกับที่ได้ตั้งพระไตรปิฎก และประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือ ๑ ตู้ หอด้านใต้ ๑ ตู้ กิจกรรมเนื่องด้วยหอพระไตรปิฎกนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในความควบคุมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นผู้อำนวยการสร้าง โดยเฉพาะลายรดน้ำและลายแกะสลัก นัยว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ กับครูช่างที่มาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อการปฏิสังขรณ์ซ่อมสร้างเสร็จแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฉลองหอพระไตรปิฎก และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เองเมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแล้วได้ทรงปลูกต้นจันทน์ไว้รอบสระ ๘ ต้น (ปัจจุบันเหลือเพียงต้นเดียว) เสร็จแล้วทรงประกาศพระราชอุทิศให้เป็นหอพระไตรปิฎก แต่มีผู้เรียกกันว่า ตำหนักจันทน์ และทรงขอระฆังเสียงดีลูกนั้นไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสร้างหอระฆังจตุรมุขพร้อมทั้งระฆังอีก ๕ ลูก พระราชทานไว้แทน เพราะเหตุแห่งการขุดระฆังได้ จึงได้ชื่อตามที่ประชาชนเรียกว่า วัดระฆัง ตั้งแต่นั้นมา

        มีเรื่องเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จะทรงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดคัณฑิการาม แต่ชื่อนี้ไม่มีใครเรียก จึงเป็นชื่อ วัดระฆัง ตามเดิม

        ในยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดบางหว้าใหญ่นี้เป็นวัดในความอุปถัมภ์ของเจ้านายในวังหลัง สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี พระนามเดิม สา เป็นสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ใกล้กับวัดบางหว้าใหญ่ จึงได้ทรงปฏิสังขรณ์ทั่วพระอาราม ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเจริญด้วยพระราชศรัทธาได้ทรงสร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้น ๑ องค์ ที่หน้าพระอุโบสถ (หลังเก่า) พระราชทานช่วยสมเด็จพระพี่นางพระองค์นั้นและได้มีพระราชดำรัสสั่งให้รื้อตำหนักปิดทองที่เรียกกันว่า ตำหนักทอง อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวังเดิมมาปลูกไว้ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ ทรงอุทิศเป็นสังฆบูชาถวายให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (สี) กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระนามเดิมว่า ทองอิน ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี ทรงถวายตำหนักแดงหนึ่งหลัง ฝารูปปะกน กว้างประมาณ ๔ วาเศษ ระเบียงกว้างประมาณ ๑ วา ๒ ศอก ยาวประมาณ ๘ วาเศษ ฝาประจัน ห้องเขียนรูปภาพอสุภต่างๆ ชนิด มีภาพพระภิกษุเจริญอสุภกรรมฐาน เดี๋ยวนี้ภาพเหล่านั้นสูญสายหมดแล้ว คงอยู่แต่ตำหนัก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวงศ์ เคยเสด็จทอดพระเนตร และทรงมีพระดำรัสว่า กุฏิหลังนี้ แต่เดิมเป็นที่ประทับทรงกรรมฐานของพระเจ้ากรุงธนบุรี เรียกกันว่า ตำหนักแดง ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถหลังใหม่ พุทธศักราช ๒๓๓๗ สมเด็จพระสังฆราช (สี) สิ้นพระชนม์ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงแล้ว โปรดให้อัญเชิญพระอัฐิมาบรรจุไว้ในรูปพระศรีอาริย์แล้วยกขึ้นประดิษฐานไว้บนมุขของพระปรางค์ทิศตะวันออก (ปัจจุบัน รูปพระศรีอาริย์ ประดิษฐานอยู่ที่วิหารสมเด็จพระสังฆราชสี) ปั้นรูปพัดยศติดที่ซุ้มมุขเป็นเครื่องหมายพระยศ พระแท่นบุษบกมาลาลายรดน้ำ กระจังลายแกะปิดทอง เป็นพระแท่นที่ประทับตามพระเกียรติยศของสมเด็จพระสังฆราชและเสลี่ยงรั่วงา ของทั้งสองอย่างนี้ยังรักษาไว้ในวัดระฆังโฆสิตาราม (ห้องพิพิธภัณฑ์) เพราะทางราชการในอดีตไม่ได้เรียกคืน

        ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระประชวร ใกล้จะสวรรคต จึงมีพระราชดำรัสสั่งว่า ฉัตรกั้นพระเมรุ เมื่อเสร็จการพระเมรุแล้ว ขอให้นำไปถวายพระประธานวัดระฆัง ครั้นถึงวันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๙ พุทธศักราช ๒๓๕๒ ก็ทรงสวรรคต เหตุนี้ฉัตรกั้นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระระฆังโฆสิตารามจึงเป็นเสวตฉัตร ๙ ชั้น แต่เดิมเศวตฉัตรองค์นี้กั้นถวายพระประธานในพระอุโบสถหลังเก่า (ปัจจุบันเป็นพระวิหาร) ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เกิดไฟไหม้เสนาสนะสงฆ์ ลุกลามตั้งแต่ทิศใต้อ้อมไปจนถึงทิศตะวันตก ใกล้จะถึงตำหนักจันทน์ (หอพระไตรปิฎก) ไฟจึงดับลง ตำหนักทองซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในพระราชวังเดิม ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้รื้อมาปลูกไว้ที่วัดระฆังโฆสิตารามก็ถูกไฟไหม้ด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ และขยายเขตวัดทางด้านทิศเหนือให้กว้างออกไป พร้อมกันนั้น กรมหมื่นนราเทเวศร์ (ได้ทรงกรมหลวงในรัชกาลที่ ๓) พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ได้ทรงสร้างพระเจดีย์โดยเสด็จพระราชกุศลกรมละหนึ่งองค์ภายในกำแพงพระอุโบสถด้านทิศเหนือ และได้ทรงสร้างเสนาสนะสงฆ์เพิ่มขึ้นอีกในเนื้อที่ที่ได้ขยายออกไป ได้อัญเชิญพระประธานหล่อมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถที่ทรงสร้างขึ้นใหม่จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำเศวตฉัตรในพระอุโบสถหลังเก่ามากั้นพระประธานองค์ใหม่ พระประธานองค์เก่านั้น ของเดิมองค์เล็ก ปั้นด้วยปูน มีเสาหินขนาดย่อมเป็นแกน ไม่ใหญ่โตอย่างเดี๋ยวนี้ และผุพังทรุดโทรมมาก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ได้ให้ช่างปั้นชาวบ้านช่างหล่อหลายคนด้วยกันที่สืบได้ ๑ คน คือนายจำเริญ พัฒนางกูร ร่วมกันปั้นรูปพระประธานทับพระประธานองค์เก่าจึงดูใหญ่โตขึ้นจนไม่น่าเชื่อว่าจะใช้เศวตฉัตรองค์นี้กั้นถวายได้

        ส่วนพระประธานองค์ปัจจุบันนี้ สืบไม่ได้ความว่านำมาจากไหน เป็นแต่ได้รับคำบอกเล่าจากพระครูเมธังกร (ทอง) ว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.จำเริญ อิศรางกูร) ได้เล่าให้ฟังว่า สมเด็จฯ เมื่อยังดำรงตำแหน่งพระราชาคณะชั้นเทพ ได้ถามพระผู้เฒ่ารูปหนึ่งถึงเรื่องพระประธาน พระผู้เฒ่ารูปนั้นทั้งชาววัดและชาวบ้านเรียกท่านว่า เสด็จสระ เพราะท่านอยู่บนหอไตรที่ตั้งอยู่ในสระ ความจริงท่านไม่ได้เป็นเจ้าเป็นนายอะไร เป็นเพราะหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ (ม.จ.ทัด เสนีวงศ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เรียกท่านว่าหลวงพี่ ท่านก็เลยตั้งความนับถือตัวเองเป็นเจ้า ประกอบกับท่านมีสติคุ้มดีคุ้มร้ายอยู่ด้วย เมื่อใครจะพูดจะถามกับท่านต้องเรียกว่า เสด็จ ถ้าไม่เรียกอย่างนั้นจะไม่ยอมพูดด้วย พระผู้เฒ่ารูปนี้แหละได้เรียนให้สมเด็จฯ ทราบว่า เมื่อท่านยังเป็นเด็กรู้ความแล้ว เห็นเขาขนพระเป็นท่อนๆ ใส่เรือมาขึ้นที่ท่าต้นโศก (ที่ริมเขื่อนหน้าวัดระฆังโฆสิตาราม ใกล้ศาลาท่าน้ำวัดมีต้นโศกต้นใหญ่ประมาณ ๒ อ้อมเศษ ปัจจุบันไม่มีแล้ว) แล้วขนเอาไปในพระอุโบสถ ทราบเพียงเท่านี้ สมเด็จฯ จึงทราบว่าพระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตารามเป็นพระหล่อไม่ใช่พระปูนนั้น พระประธานองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ ๔ ศอกเศษ เบื้องพระหัตถ์มีรูปพระสาวก ๓ องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างามมาก จนเป็นที่ปรากฎในกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ได้มีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษและพระราชดำรัสนี้เป็นที่ซาบซึ้ง ได้เล่าสืบกันมาจนทุกวันนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทางวัดระฆังโฆสิตารามได้รับพระราชทานมา เศวตฉัตรองค์นี้ ของเดิมเป็นผ้าตาดขาวเก่ามาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นผ้าขาวลายฉลุปิดทองใช้โครงของเก่า และในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ ได้มีการเปลี่ยนผ้าให้เป็นตามแบบเดิมอีกครั้งหนึ่งโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนใหม่ เพราะเก่ามาก ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องด้วยมหากุศล

        อนึ่ง เศวตฉัตรนี้เป็นฉัตร ๙ ชั้น มีผู้คนพูดกันต่อๆ มาว่า มีพระอัฐิ หรือพระอังคาร ของเจ้านายผู้สูงศักดิ์ บรรจุอยู่ใต้ฐานพระประธาน แต่ก็ได้ความไม่แน่นอนนักว่าเป็นของเจ้านายพระองค์ใด ถ้าพิจารณาตามพระราชพิธีทักษิณานุประทานงานสงกรานต์สดับปกรณ์ผ้าคู่ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแล้ว เจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสมักสดับปกรณ์ประจำพระอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บางปีก็เปลี่ยนเป็นประจำพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ผู้ทรงเป็นพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่พุทธสักราช ๒๕๐๑ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามได้ประจำพระอัฐิ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดีตลอดมา

        ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างตำหนักเก๋งหนึ่งหลังอยู่ทางทิศใต้ของวัด เหตุที่ทรงสร้างตำหนักเก๋ง มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งควาญช้างนำช้างพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกอาบน้ำในเวลาเช้าที่ท่าช้างวังหลวง เมื่อควาญช้างได้อาบน้ำให้แล้วขึ้นจากท่า ช้างกลับไม่ยอมเข้าโรง วิ่งอาละวาดไล่คนที่เดินผ่านไปมาตั้งแต่ท่าช้างถึงหลักเมือง และวนเวียนอยู่แถวนั้นตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงเศษก็ยังไม่ยอมกลับเข้าโรง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ จึงทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้อาราธนาสมเด็จพระพนรัต (ทองดี) วัดระฆังโฆสิตาราม ให้ไปช่วยนำช้างเข้าโรง เพราะทรงทราบว่าสมเด็จพระพนรัตนี้มีความรู้ทางคชศาสตร์ และท่านก็ได้ช่วยจัดการนำช้างเข้าโรงได้อย่างง่ายดายสมพระราชประสงค์ และในการปราบช้างของสมเด็จพระพนรัตในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เรียกตามการทรงสถาปนาของรัชกาลที่ ๔) ได้ประทับทอดพระเนตรอยู่กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หน้าโรงทานข้างประตูวิเศษไชยศรี ได้ทรงเห็นความสามารถของสมเด็จพระพนรัต จึงเป็นเหตุให้พระองค์ท่านเกิดความเลื่อมใสในวิชาคชศาสตร์ ต่อมาจึงได้ทรงให้สร้างตำหนักเก๋งไว้ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และเมื่อทรงผนวชแล้วได้เสด็จไปประทับจำพรรษาอยู่ที่ตำหนักที่ทรงสร้างไว้

        สมเด็จพระสมมติอมรพันธ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานข้อสังเกตในหนังสือตั้งพระราชาคณะกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงผนวชที่วัดระฆังโฆสิตารามนี้ เพราะเหตุว่าได้ทรงนับถือในสมเด็จองค์นี้มาก ที่วัดระฆังโฆสิตารามนี้ ยังมีพิธีสวดพระกฐินแปลกจากวัดอื่นๆ ทั่วพระราชอาณาจักร คือพระคู่สวดเมื่อจะสวดญัตติทุติยกรรมจะยืนขึ้นสวดตั้งแต่ต้นไปจนจบ ทำนองสวดแบบสวดภาณยักษ์ เล่าสืบกันมาว่า สมัยสมเด็จพระสังฆราช (สี) เป็นอธิบดีสงฆ์ การสวดกฐินนั่งสวดก่อน พอสวดถึง ยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย พระคู่สวดนั้นต้องลุกขึ้นยืนสวดตั้งแต่ ทินฺนํ......ไปจนจบ มาถึงสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นอธิบดีสงฆ์ ท่านขอให้ยืนสวดตั้งแต่ต้นไปจนจบทีเดียว โดยท่านอ้างว่า เมื่อยืนสวดแล้วก็ยืนเสียให้ตลอดไป จึงเป็นประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้


ประวัติ ปูชนียวัตถุ



                พระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ ๔ ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก ๓ องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก
                จนปรากฎว่าครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆังพอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ และพระประธานองค์นี้ก็ได้นามว่า พระประธานยิ้มรับฟ้า ตั้งแต่นั้นมา




                พระปรางค์องค์ใหญ่ รัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์ พระราชทานร่วมกุศลกับสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี พระนามเดิม สา) ตั้งอยู่หน้าพระวิหาร ได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ว่า เป็นพระปรางค์ที่ทำถูกแบบที่สุดในประเทศไทย พระปรางค์องค์นี้จัดเป็นพระปรางค์แบบ สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ยุคต้น ที่มีทรวดทรงงดงามมาก จนยึดถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา




                พระเจดีย์ ๓ องค์ สร้างโดยเจ้านายวังหลัง ๓ องค์ คือ กรมหมื่นนราเทเวศร์ (พระองค์เจ้าชายปาล ต้นสกุล ปาลกะวงศ์) กรมหมื่นนเรศร์โยธี (พระองค์เจ้าชายบัว) และกรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ (พระองค์เจ้าชายแดง ต้นสกุล เสนีวงศ์) สร้างโดยเสด็จพระราชกุศลในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เป็นเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ทรงจอมแห ทรวดทรงงดงามมาก แต่เป็นเจดีย์ขนาดย่อม ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถหลังปัจจุบัน



                พระอุโบสถ เป็นทรงแบบรัชกาลที่ ๑ หลังคาลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวยสลักเสลาอย่างสวยงาม บริเวณมุขด้านหน้าและหลังทำปีกนกคลุมมุขอยู่ในระยะไขราหน้าจั่ว ตอนใต้จั่วหรือหน้าบัน ที่จำหลักลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับลายกนกปิดทองอย่างประณีต เจาะเป็นช่องหน้าต่าง ๒ ช่อง แทนแผงแรคอสองเหนือประตูหน้าต่างรอบพระอุโบสถติดกระจังปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปซุ้มบนบานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำปิดทองมีรูประฆังเป็นเครื่องหมาย ด้านในเขียนภาพทวารบาลยืนแท่นระบายสีงดงาม บริเวณฝาผนังภายในพระอุโบสถโดยรอบเขียนภาพจิตรกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าฝีมืองดงามมาก โดยผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ก่อนเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เบื้องล่างเขียนภาพสัตว์นรกในอาการต่างๆ ภาพฝาผนังส่วนที่เหลือ เบื้องบนเขียนเป็นเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนภาพทศชาติ ซึ่งเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวาอ่อนช้อยและแสงสีเหมาะสมกับเรื่องราว ภาพเหล่านี้เขียนโดย พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๖๕ ครั้งมีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถในรัชกาลนั้น




                ต้นโพธิ์ลังกา เป็นต้นโพธิ์พันธุ์ลังกา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับมาในรัชสมัยของพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้นำไปปลูกตามพระอารามหลวงต่างๆ ตามประวัติกล่าวว่า ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นโพธิ์ที่วัดระฆังโฆสิตารามนี้ด้วยพระองค์เอง



                ตำหนักแดง เป็นเรือนไม้สักฝาปะกนกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขทรงยกถวายวัดระฆังโฆสิตารามเพื่อปลูกเป็นกุฏิสงฆ์ ปัจจุบันอยู่ภายในบริเวณคณะ ๒ เชื่อกันว่าเป็นตำหนักสำหรับทรงกรรมฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) สันนิษฐานจากพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้ตรัสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เมื่อเสด็จมาทอดพระเนตรกุฏินี้ว่า นี้เป็นตำหนักปรกของพระเจ้ากรุงธนบุรี หลักฐานที่นำมาอ้างอิงคือฝาประจันที่ใช้กั้นห้องภายในตำหนักเดิม เขียนรูปอสุภต่างๆ ชนิด และมีภาพพระภิกษุเจริญกรรมฐาน ซึ่งสอดคล้องกับพระอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ปัจจุบันภาพเหล่านี้ลบเลือนหายไปหมดสิ้นแล้ว




                หอพระไตรปิฎก เป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด หอด้านใต้ลักษณะเป็นหอนอน หอ กลางเป็นห้องโถง หอด้านเหนือเข้าใจว่าเป็นห้องรับแขก ของเดิมเป็นหลังคามุงจาก ได้เปลี่ยนเป็นมุงกระเบื้อง ชายคาเป็นรูปเทพพนมเรียงรายเป็นระยะๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดไม้ขัดแตะเสียบกระแชงเป็นขัดด้วยหน้ากระดานไม้สักระหว่างลูกสกล ใช้แผ่นกระดานไม้สักเลียบฝาภายในแล้วเขียนรูปภาพต่างๆ บานประตูด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางด้านตะวันออกแกะเป็นลายกนกวายุภักษ์ ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานซุ้มประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ภายนอกติดคันทวยสวยงาม ภายในมีตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ๒ ตู้ ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือ ๑ ตู้ หอด้านใต้ ๑ ตู้ หอพระไตรปิฎกนี้ตั้งอยู่ภายในเขตพุทธาวาส ทิศใต้ของพระอุโบสถ




                หอพระไตรปิฎกหลังเล็ก อยู่หน้าตำหนักแดง ในคณะ ๒ เป็นเรือนไม้ฝาปะกน ปิดทอง ทาสีเขียวสด ประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำสวยงามมาก




                พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบติดคันทวยตามเสาอย่างสวยงาม หน้าบันทั้งสองด้านจำหลักรูปฉัตร ๓ ชั้น อันเป็นเครื่องหมายพระยศสมเด็จพระสังฆราช วิหารหลังนี้เดิมหลังคาเป็นทรงปั้นหยา เรียกว่า ศาลาเปลื้องเครื่อง ต่อมา พระราชธรรมภาณี (ละมูล) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ ได้เปลี่ยนเป็นหลังคาทรงไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระสังฆราช (สี) ซึ่งเดิมบรรจุอยู่ในรูปพระศรีอาริยเมตไตรย ประดิษฐานในซุ้มพระปรางค์ของวัดระฆังโฆสิตาราม ต่อมาได้ย้ายมาไว้ที่พระวิหารที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เพื่อยกย่องพระเกียรติของพระองค์




                ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๖.๖๐ เมตร ยาว ๔๐.๘๐ เมตร สร้าง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นอาคาร คอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทย

 

หลวงพ่อโต

หลวงพ่อโต

จุดไหว้พระ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

จุดไหว้พระ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

 พระประธานยิ้มรับฟ้า

พระประธานยิ้มรับฟ้า

ภาพจิตกรรมฝาผนัง

ภาพจิตกรรมฝาผนัง

ภาพจิตกรรมฝาผนัง

ภาพจิตกรรมฝาผนัง

พระประธานยิ้มรับฟ้า

พระประธานยิ้มรับฟ้า

 พระประธานยิ้มรับฟ้า

พระประธานยิ้มรับฟ้า

ภายในพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถ

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ

 ตำหนักแดง

ตำหนักแดง

ภายใน  ตำหนักแดง

ภายใน ตำหนักแดง

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร