ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 23,733

สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ

สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ

ตั้งอยู่ตำบลปลาบ่า เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านวิชาการในการศึกษาค้นคว้าทดลองไม้ดอกไม้ผล ทั้งของเมืองหนาวและพืชสวนของท้องถิ่นที่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศและระบบนิเวศ ได้แก่ ทุ่งซัลเวีย แปลงไม้กฤษณา สวนไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ แปลงสตรอว์เบอร์รี่ โรงเรือนเพาะชำ ไม้กระถาง จากนั้นก็ถ่ายทอดเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยแก่เกตรกรและผู้ที่สนใจต่อไป นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมไม้ผลและไม้เมืองหนาวควรไปช่วงเดือนกันยายน-เมษายน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 042-891199, 042-891398

ที่นี่เป็นที่ตั้งของสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ แหล่งศึกษาวิจัยและทดลองปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวเพื่อนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าทดลอง เผยแพร่ออกไปให้แก่เกษตรกร มาเป็นระยะเวลายาวนาน บนเนื้อที่ 5,000 ไร่ ของสถานีทดลองเกษตรที่สูงแห่งนี้โอบล้อมด้วยทิวทัศน์ของภูเขาสูง และห่มคลุมด้วยความหนาวเย็น รอคอยให้นักเดินทางผู้สนใจในเรื่อง ราวของการเกษตรที่สูงได้ก้าวเข้ามาเยี่ยมชม

การเดินทาง
สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ ตั้งอยู่ที่ ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

รถยนต์ส่วนตัว นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง เส้นทางแรก จากกรุงเทพฯ ใช้ทาง หลวงหมายเลข 1 ผ่านตัวเมืองสระบุรี ตรงเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์  ตรงเข้าทางหลวงหมาย เลข 203 ผ่านอำเภอหล่มสัก หล่มเก่า เข้าเขตจังหวัดเลยที่อำเภอด่านซ้าย ผ่านอำเภอด่านซ้ายเข้าเขตอำเภอภูเรือ ก่อนถึงอำเภอภูเรือประมาณ 7 กิโลเมตร (บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 57 - 58 ) เป็นแยกสามแยกกกโพธิ์ ให้เลี้ยวขวาจะเห็นป้ายขวามือ บอกทางเข้าสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ ตรงเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร จะถึงแยก "บ. ปลาบ่า - หินสอ" ให้เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 16 กิโลเมตร สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ ตั้งอยู่ด้านขวามือ รวมระยะทางทั้งสิ้น 487 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 - 8 ชั่วโมง

อีกเส้นทางหนึ่ง ไปตามทางหลวงหมายเลข 2  ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดขอนแก่น แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 201 เข้าเขตจังหวัดเลยที่อำเภอภูกระดึง ผ่านอำเภอวังสะพุง แล้วตัดเข้าอำเภอภูเรือได้เช่นกัน เส้นทางนี้จะอ้อมมากกว่าการเดินทางไปสถานีเกษตรที่สูงภูเรือ โดยรถประจำทางไม่สะดวกนัก นักท่องเที่ยวต้องนั่งรถไปถึงอำเภอภูเรือ แล้วจึงหารถรับจ้างไปที่สถานีฯ

ความเป็นมา
เนื่องจากในพื้นที่ภาคอีสานนั้น มีจังหวัดเลย  เพียงจังหวัดเดียว  ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น และมีระดับความสูงเหมาะสมต่อการเกษตรบนที่สูง กรมวิชาการเกษตรจึงมีความคิดที่จะจัดตั้งสถานีทดลองเกษตรที่สูงขึ้น เพื่อทำการทดลองพันธุ์พืชไม้ดอกเมืองหนาว  สำหรับส่งเสริมให้แก่เกษตรกรทำการเพาะปลูกในปี พ.ศ. 2529 ได้มีการสำรวจบริเวณยอดภูครั่ง อำเภอภูเรือ และป่าเสื่อมโทรมบริเวณใกล้เคียงพบว่ามีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร อันเหมาะสมสำหรับทดลองพันธุ์พืชเมืองหนาว มีแหล่งน้ำเพียงพอ และมีพื้นที่กว้างสามารถขยาย ออกไปได้ถึง 5,000 ไร่ จึงดำเนินการจัดตั้งเป็นสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือขึ้น ผลงานของสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ ที่ผ่านมา คือการทดสอบพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาว สำหรับปลูกในพื้นที่สูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งได้แก่พันธุ์แอปเปิ้ล พันธุ์ท้อสำหรับรับประทานสด พันธุ์พลัม จากการทดสอบพบว่าบางพันธุ์สามารถเติบโตได้ดีในสภาพอากาศของที่สูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่บางพันธุ์ก็มีการเติบโตช้า ออกดอกได้เฉพาะช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น  และติดผลได้ในบางปี อย่างไรก็ตามยังคงยากลำบากอยู่ในการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ ส่วนการปลูกสตรอเบอรี่  และไม้ดอกเมืองหนาวนั้นที่ผ่านมา ได้ผลเป็นอย่างดี นอกจากนี้สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ ยังได้มีความพยายามที่จะทำการรวบรวมและศึกษาพันธุ์องุ่นสำหรับทำไวน์ และองุ่นสำหรับรับประทานสดเพื่อพัฒนาพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดเลยทำการปลูกต่อไปอีกด้วย

จุดท่องเที่ยวภายในสถานีฯ
ปัจจุบันสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ มีพื้นที่ที่เปิดดำเนินการ ทั้งสิ้น 1,500 ไร่ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินชมศึกษาแปลงทดลองการเกษตรภายในสถานีฯ ได้ โดยบางจุดสามารถที่จะเดินเท้าได้ แต่บางจุดก็ควรใช้พาหนะ ซึ่งใช้ได้ทั้งรถเก๋ง รถขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือจักรยาน โดยมีจุดที่น่าสนใจได้แก่

แปลงไม้ดอกเมืองหนาว (หมายเลข 1)
ถือเป็นจุดเด่นของสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือทีเดียว เนื่องจากจุดที่ตั้งของสถานีฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอภูเรือ
จังหวัดเลยนั้น เป็นจุดที่ปลูกต้นไม้ดอกไม้ ประดับเมืองหนาว ได้มากมายหลายชนิด  เทียบเท่ากับพื้นที่ทางเหนือของประเทศ อย่างเชียงใหม่ หรือเชียงราย แต่ที่นี่จะพิเศษกว่าตรงที่หนาวก่อน และหนาวยาวนานกว่าในภาคเหนือ ดังนั้นนักท่องเที่ยว  จึงสามารถจะมาเที่ยวชมความงาม ของดอกไม้ประดับเมืองหนาวที่นี่ได้ก่อนใคร  และระยะเวลาในการบานอวดสีสันของบรรดาไม้ดอกเหล่านี้ก็จะอยู่คงทนต่อไป จนถึงราวเดือนมีนาคมเลยทีเดียว แปลงไม้ดอกไม้ประดับที่มีเนื้อที่ถึง 3 ไร่ เริ่มต้นจากแปลงกุหลาบพันธุ์ก้านแข็ง ดอกใหญ่หลากหลายสีสัน ถือเป็นราชินีของไม้ดอกทั้งมวล แปลงเพาะพันธุ์กุหลาบจะตั้งอยู่บนเนินเขา ลดหลั่นกันลงไปเป็นชั้นๆ เห็นทิวเขาที่โอบล้อมอยู่โดยรอบ มีทางเดินที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินลัดเลาะเที่ยวชมได้ตลอด ส่วนไม้ดอกเมืองหนาวอื่นๆ ได้แก่ แพนซี่ คาร์เนชั่น ฟอร์เก็ตมีนอทิ ลิ้นมังกร หน้าแมว พิทูเนีย รวมถึงคะน้าใบหยัก ที่เมื่ออุณหภูมิต่ำถึงระดับความเย็นจัดจะเปลี่ยนเป็นสีขาวทั้งต้น ตัดกับกุหลาบแฟนซีที่เป็นสีม่วงทั้งต้น สวยงามน่าชมมาก 

ทุ่งซัลเวียและแปลงรวบรวมไม้ผลเมืองหนาว (หมายเลข 2)
ซัลเวีย เป็นไม้ดอกเมืองหนาวมีดอกสีแดงเข้ม ตัดกับใบสีเขียวของมัน มีถิ่นกำเนิดจากประเทศบราซิล ชอบอากาศเย็น ซัลเวียเมื่ออยู่ลำพังเพียงต้นเดียวก็ดูไม่โดดเด่นอะไรนัก แต่ถ้าอยู่รวมกันเป็นทุ่งแล้ว สีแดงเข้ม ที่ดารดาษเต็มทุ่งของมันจะแต่งแต้มให้พื้นที่ตรงนั้นสว่างไสวขึ้นมาทันที ทุ่งซัลเวียที่สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือแห่งนี้ปลูกอยู่บนเนินเขา แทรกแซมอยู่ระหว่างแปลงไม้ผลเมืองหนาวหลากหลายชนิด ทั้งแอปเปิ้ล ท้อ สาลี่ และพลัม ซึ่งเป็นพันธุ์ทดลองปลูกในพื้นที่สูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากนักท่องเที่ยวมาตรงช่วงเวลาที่ไม่ผลเหล่านี้ออกผล ซึ่งตรงกับช่วงราวเดือนมีนาคม - กรกฎาคม ก็สามารถเด็ดชิมได้จากต้นเลยทีเดียว หรือ หากเดินทางมาในช่วงหนาว ก็จะได้ชมไม้ผลเหล่านี้ทิ้งใบผลิดอกเต็มต้น การได้เดินชมดอกท้อ แอปเปิ้ล สาลี่ บานเต็มต้น ตัดกับสีสันอันสดใสของทุ่งซัลเวีย แดง ม่วง ชมพู จึงเป็นบรรยากาศชวนให้เพลิดเพลินใจเป็นอย่างยิ่ง 

แปลงไม้กฤษณา (หมายเลข 3)
"กฤษณา" อาจเป็นไม้ที่เราอาจได้ยินชื่อมานานในฐานะยาสมุนไพร ที่มีกลิ่นหอม  แต่น้อยคนนักที่จะเคยได้เห็นต้นจริงของพืชชนิดนี้ ส่วนของไม้กฤษณาที่มีกลิ่นหอมและนำมาใช้ทำยาคือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ หรือแก่นไม้นั่นเอง ความจริงแล้วเนื้อไม้ของกฤษณาที่แท้จะเป็นสีขาวนวลไม่มีกลิ่น แต่กลิ่นหอมของมันมาจากการที่เชื้อราเข้าไปเจริญในเนื้อไม้ทำให้ไม่เป็นรากลายเป็นสีเข้มและส่งกลิ่นหอมระเหยออกมา ไม้กฤษณาจะเริ่มมีเชื้อราเมื่ออายุต้นมากกว่า 20 ปี และจะหอมสมบูรณ์ทั้งต้นเมื่อมีอายุราว 50 ปี

ไม้กฤษณานั้นชาวฮินดูนิยมนำมาจุดไฟ  เพื่อให้มีกลิ่นหอมในโบสถ์ผงไม้หอมใช้โรยบนเสื้อฆ่าหมัดและเหาในแหลมมาลายู ใช้ไม้หอมเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางค์ และใช้บำบัดโรคผิวหนังหลายชนิด ในเมืองไทยใช้สกัดเป็นน้ำหอมใช้ทำสบู่ และเครื่องสำอาง ถือเป็นไม้มีราคาแพง การทำให้ไม้กฤษณาเกิดเป็นเชื้อราขึ้นนั้น ก็จะใช้วิธีเจาะรู ให้เกิดเป็นรา เพื่อกระตุ้นกลิ่นหอม นักท่องเที่ยวสามารถชมวิธีการเจาะรูไม้กฤษณา และทดลองดมกลิ่นหอมที่ระเหย ออกมาจากต้นของมันได้ที่แปลงทดลองพันธุ์ไม้กฤษณาของ สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ

สวนไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ (หมายเลข 4)
สวนไม้หอมนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในวโรกาสเจริญพระชมมายุครบ 5 รอบ โดยได้ทำการรวบรวมพันธุ์ไม้หอมทั้งหมด 25 ชนิด มาปลูกไว้ในที่เดียวกัน ได้แก่ สายน้ำผึ้ง แก้ว พุดสามสี ราตรี มะลิ พุดซ้อน ราชาวดี กระทิง มหาหงส์ นมแมง คัดเค้า บุหงาส่าหรี พุดจีบและกรรณิการ์นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมและสำรวจความหอมที่แตกต่างกันของพรรณไม้แต่ละชนิดได้ที่สวนแห่งนี้นอกจากนี้ติดกันกับสวนไม้หอมยังมีแปลงอบเชยเครื่องเทศสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่สถานีฯ ทำการทดลอง เพื่อทดสอบพันธุ์ก่อนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต่อไป

ชิมสตรอเบอรี่จากแปลง (หมายเลข 5)
สตรอเบอรี่  ผลไม้ที่ไม่มีใครปฏิเสธความหวานฉ่ำอร่อยลิ้นของมันได้ สตรอเบอรี่ นอกจากจะมีรสชาติหวานลิ้นแล้วยังเป็นแหล่งที่ให้เส้นใยอาหารเป็นอย่างดี ทุกวันนี้สตรอเบอรี่จึงพลิกบทบบาทกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับเกษตรกรในพื้นที่สูง สตรอเบอรี่ ผลไม้เมืองหนาวชนิดนี้ได้ถูกนำมา ปลูกในเมืองหนาวชนิดนี้ได้ถูกนำมาปลูกในเมืองไทยราว 70 ปีมาแล้วเป็นสตรอเบอรี่พันธุ์พื้นเมืองซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนานำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศมาทดลองปลูกมากมาย  จนพบพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งในภายหลังได้นำมาทดลองปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งในภายหลังได้นำมาทดลองปลูก ในพื้นที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และพบว่าสามารถขึ้นได้ดี เนื่องจากมีความสูงพอสมควร มีอากาศเย็นและลักษณะดินพอเหมาะ จนทุกวันนี้มีพื้นที่หลายๆ แห่งในอำเภอภูเรือได้มีการปลูกสตรอเบอรี่กันเป็นที่แพร่หลาย หากเดินทางมาที่นี่ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม นักท่องเที่ยวคงอดใจไม่ได้ที่จะขอลองลิ้นชิมรสความหวานหอมของสตรอเบอรี่จากแปลงทดลองของที่นี่ 

แปลงมะคาเดเมีย และโรงอบมะคาเดเมีย (หมายเลข 6,7)
มะคาเดเมียนัท เป็นไม้ต้นสูงใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลีย ใบหนาทึบและแข็ง ดอกเป็นช่อยาว ประกอบด้วยดอกเล็กๆ สีขาวเต็มช่อ ห้อยระย้าเต็มต้น มีกลิ่นหอมมมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้มีความพยายามที่จะทดสอบพันธุ์มะคาเดเมียเพื่อทำการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจเนื่องจากผลมะคาเดเมียนั้นตลาดมีความต้องการสูง มีราคาแพงมากนิยมนำไปคั่วอบเกลือหรือเป็นส่วนผสมในช็อกโกแลต ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้ามาโดยตลอด ผลมะคาเดเมียนัท มีลักษณะเป็นลูกกลมๆ ขนาดประมาณ 1 นิ้ว สีเขียวเมื่อทุบเปลือกออก เนื้อในจะมันหวาน นิยมนำไปคั่วอบเกลือ เป็นของขบเคี้ยว  นักท่องเที่ยวสามารถทดลองชิมมะคาเดเมียคั่วอบเกลือที่ทางสถานีฯ ได้ทดลองทำการอบเกลือบรรจุใส่ถุงสำหรับให้แขกที่มาเยือนได้ชิมหากติดใจก็อาจจะขอซื้อเป็นของฝากติดมือกลับบ้านได้ด้วย "บ้านไร่ปลายฟ้า" 

โรงเรือนเพาะชำไม้กระถาง (หมายเลข 8)
หลังจากชมแปลงต่างๆ  จนทั่วแล้ว "บ้านไร่ปลายฟ้า" อาจเป็นแหล่งสุดท้ายที่นักท่องเที่ยวจะมาแวะชมเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศชวนให้สดชื่นสบายตาสบายใจของโรงเรือนเพาะชำไม้กระถางต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้สำหรับปลูกในห้องแอร์ อย่างพวกกล็อกซีเนีย อาฟริกันไวโอเล็ต ผีเสื้อพิทูเนีย ไม้กระถางเหล่านี้ทางสถานีเพาะชำเพื่อสำหรับประดับตามสถานที่ต่างๆ  ตามแต่ที่หน่วยงานต่างๆ จะขอมา รวมทั้งจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่สนใจอีกด้วย ใกล้ๆ กับบ้านไร่ปลายฟ้า มีโรงเรือน เพาะชำดอกหน้าวัวอยู่ไม่ไกลนัก สามารถแวะไปเที่ยวชมได้หรือหาซื้อติดมือกลับบ้านได้เช่นกัน

สิ่งอำนวยความสะดวก
การพักแรม
สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ มีบ้านพักรองรับนักท่องเที่ยว ได้ 2 หลัง แต่ละหลังพักได้ตั้งแต่ 6 - 10 คน
มีที่กางเต็นท์ตรงบริเวณลานสนสามใบ อยู่ไม่ไกลจากอาคารสำนักงานมากนัก สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน มีโรงครัวกลางขายอาหารตามสั่ง ทั้งนี้หากไปในช่วงวันเสาร์ - อาทิตย์ ควรติดต่อไปล่วงหน้าเพื่อสอบถามเรื่องการพักแรม และอาหาร


สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ

ภายในเรือนเพาะชำของสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ

สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ

สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ

สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ มีบ้านพักรองรับนักท่องเที่ยว ได้ 2 หลัง

สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ

ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

บริเวณร้านขายของที่ระลึกและบริการอาหาร

สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ

สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ