ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 3,782

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร

ประวัติความเป็นมา
 เมื่อปี พ.ศ.2508 ป่าไม้เขตบ้านโป่งขอให้กรมป่าไม้ประกาศห้ามการล่าสัตว์ป่าในบริเวณป่าทุ่งใหญ่ เนื่องจากเห็นว่ามีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุมและมีคนเข้าไปล่าสัตว์ป่ากันมากกองบำรุง กรมป่าไม้ ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการสงวนและคุ้มครองสัตว์ในขณะนั้นจึงได้ส่ง เจ้าหน้าที่ไปสำรวจและตรวจสอบในปี พ.ศ.2510 และเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่เนื่องบริเวณพื้นที่มีขนาดใหญ่ยังมีประทานบัตรและการอนุญาตทำประโยชน์อื่น ๆ อีกหลายอย่างในป่าแห่งนี้ จึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือจากจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดตาก ระงับใบอนุญาตใด ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อแผนการจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ และได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการเตรียมการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2516
 ต่อมาได้ปรากฏข่าวอื้อฉาวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการเครื่องหนึ่งเกิดอุบัติเหตุตกพังพินาศที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2516 มีผู้เสียชีวิต 6 คน และพบซากสัตว์ป่าปะปนอยู่กับซากปรักหักพังของเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงไปถึงกรณีที่สื่อมวลชนและนิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติได้ไปพบคณะล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่ ทำการล่าสัตว์โดยไม่เกรงกลัวต่อเจ้าหน้าที่ และยืนยันว่าเป็นคณะเดียวกันกับเฮลิคอปเตอร์ที่ตก ทำให้กรณีทุ่งใหญ่เป็นข่าวใหญ่และเป็นที่สนใจของคนทั่วไปอยู่เป็นเวลานาน
 คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2516 และมีมติให้ดำเนินการประกาศป่าทุ่งใหญ่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยให้ชื่อว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่เคยหยุดทัพในบริเวณทุ่งใหญ่ระหว่างการยกทัพไปรบกับพม่า และได้ดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนจนเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่ม 91 ตอนที่ 72 ลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2517 ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกเมื่อพ.ศ. 2534
 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 33,647.2 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,279,500 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
 ทิศเหนือ จรดหมู่บ้านยางแดง บ้านกะเหรี่ยงมาจี บ้านกะเหรี่ยงมาจีใหม่ ในเขตจังหวัดตาก
 ทิศใต้ จรดแม่น้ำรันตีและแนวเขตวกลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามลำห้วยแยกของแม่น้ำรันตึไปจรดขุนห้วยหงียาย
 ทิศตะวันตก จรดพรมแดนประเทศสหภาพพม่า และพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ บางส่วน
 ลักษณะภูมิประเทศ
 ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนและเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแควน้อยและแควใหญ่ ลำน้ำแควใหญ่ไหลผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ทางด้านตะวันออกมีเนื้อที่ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ระดับความสูงจากน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 800 - 1,200 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุด คือ เขาใหญ่ สูง 1,800 เมตร อยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ เป็นต้นน้ำลำธารหลายสาย คือ ห้วยโรตี่ แม่น้ำรันตี ไหลลงสู่ ลำแควน้อยทางด้านตะวันตก ห้วยเซซะโหว่ ห้วยดงวี่ ห้วยซ่งไท้ ไหลลงสู่แควใหญ่ทางด้าน ตะวันออก ห้วยหม่องดง แม่น้ำกษัตริย์ใหญ่ ห้วยทีมู ไหลลงสู่ประเทศพม่าทางด้านเหนือ
 ลักษณะภูมิอากาศ
 มีฤดูกาลเช่นเดียวกับภาคกลางของประเทศไทย แต่อากาศค่อนข้างหนาวเย็นกว่าปกติ เนื่องจากเป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ในหน้าร้อนอากาศเย็นสบายและกลางคืนน้ำค้างแรงมาก
 ชนิดป่าและพรรณไม้
 ป่าไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีหลายลักษณะผสมกันอยู่ตามธรรมชาติ เป็นแหล่งน้ำแหล่งอาหาร และที่หลบซ่อนป้องกันภัยของสัตว์ป่าที่สมบูรณ์ ทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้มีสัตว์ป่าอยู่อย่างชุกชุม ป่าเหล่านี้ประกอบด้วยทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ และป่าดงดิบเขา
 ทุ่งหญ้า มีกระจายอยู่ทั่วไปตามยอดเนิน บางแห่งมีขนาดใหญ่มีเนื้อที่ถึง 10 ตารางกิโลเมตร และเรียกบริเวณนี้ว่า ทุ่งใหญ่ บริเวณทุ่งหญ้าเหล่านี้มักจะเกิดไฟป่าลุกไหม้อย่าง รุนแรงทุกปี ทำให้มีไม้ยืนต้นกระจายอยู่ห่าง ๆ ไม้พื้นล่างเป็นพวกหญ้าและไม้ตระกูลปาล์ม คือ ปรงและเป้งขึ้นผสมอยู่ทั่วไป ในฤดูฝนไม้พื้นล่างในทุ่งจะเจริญงอกงามจนสูงท่วมหัว สัตว์ป่าจึงได้อาศัยหากินและซุกซ่อนอยู่ในบริเวณดงหญ้าเหล่านี้ เมื่อถึงฤดูหนาวหญ้าที่แก่เต็มที่จะแห้ง และสุมกันเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ตอนปลายฤดูหนาว-ฤดูร้อนจึงเกิดไฟป่าลุกไหม้ทั้งทุ่งจนเหลือแต่ตอ หลังจากนั้นหญ้าจะเริ่มแตกยอดอ่อนเป็นหญ้าระบัด และกลายเป็นแหล่งหากินที่สำคัญของสัตว์ป่าและจะมีความสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง ทุ่งหญ้าที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดี ได้แก่ ทุ่งใหญ่ ทุ่งฤาษี ทุ่งนเรศวร
 ทุ่งใหญ่ เป็นทุ่งหญ้าบนเนินเขาที่มีบริเวณติดต่อกันเป็นเนื้อที่ประมาณ 10 ตาราง กิโลเมตร สลับด้วยไม้ยืนต้นที่เหลือรอดจากไฟไหม้ทั้งที่เป็นกลุ่มและกระจายกันอยู่ในบริเวณทุ่งบริเวณที่ลุ่มมีแหล่งน้ำและดินโป่งหลายแห่ง ส่วนรอบ ๆ ยังเป็นป่าที่อุดทสมบูรณ์และยอดเขา หินปูนแซมอยู่ทั่วไป บริเวณนี้จึงมีสัตว์ป่าชุกชุมมากและมีทางด่านสัตว์ป่าที่ใช้เดินเป็นประจำและรอยลงกินดินโป่งอยู่ทั่วไป
 ป่าเบญจพรรณ มักจะขึ้นผสมอยู่กับป่าเต็งรัง ส่วนใหญ่ยังมีสภาพสมบูรณ์ มีไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ประดู่ แดง มะค่าโมง ตะแบก ส้าน และมักจะพบไม้ไผ่ขึ้นแซมอยู่เป็นไม้พื้นล่าง เช่น ไผ่ไร่ ไผ่ไร่ลอ ไผ่รวก และบางแห่งจะปกคลุมไปด้วยป่าไผ่เกือบทั้งหมด ซึ่งมักจะเป็นกอขนาดใหญ่ ได้แก่ ไผ่ป่าหรือไผ่หนาม ไผ่ซางนวล ไผ่บง เป็นต้น
 ป่าเต็งรัง มักจะพบในบริเวณที่หน้าดินตื้นและมีความชื้นน้อย สภาพป่าโดยทั่วไปยังมีความอุดมสมบูรณ์และมีไม้ขนาดใหญ่กว่าที่อื่น ไม้มีค่าที่พบมาก ได้แก่ เต็ง รัง ประดู่ แดง ส่วนไม้พื้นล่างมักจะเป็นหญ้าชนิดต่าง ๆ ป่าเต็งรังบางแห่งได้เปลี่ยนสภาพเป็นทุ่งหญ้าและเกิด ไฟป่าลุกลามอย่างรุนแรง ป่าในลักษณะนี้จะมีไม้ยืนต้นขึ้นอยู่น้อย ไม้ที่พบเป็นไม้จำพวกส้านและกระโดน แต่จะมีไม้พื้นล่างตระกูลปาล์มจำพวกเป้งและปรงขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นมีลักษณะแปลกไปจากที่อื่น โดยเฉพาะต้นปรงมีขนาดโตมากและมีอายุนับร้อยปี
 ป่าดงดิบ มักจะพบตามที่ราบลุ่มและริมห้วย ซึ่งจะมีลักษณะทั้งป่าดงดิบชื้นและ ป่าดงดิบแล้งผสมกัน มีพันธุ์ไม้ป่าดงดิบขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ที่สำคัญและมีค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ตะเคียน อบเชย เป็นส่วนใหญ่ ไม้พื้นล่างเป็นหวาย ไม้ไผ่ และเถาวัลย์ เป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธารที่สำคัญยิ่งและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าซึ่งชอบป่าทึบ
 ป่าดงดิบเขา กระจายอยู่ตามยอดเนินเขาเมื่อระดับความสูงมากขึ้น ชนิดพันธุ์ไม้จะค่อย ๆ เปลี่ยนจากพันธุ์ไม้ป่าเต็งรังหรือป่าเบญจพรรณเป็นพันธุ์ไม้ป่าดิบเขาจำพวกก่อชนิดต่าง ๆ มณฑาป่า จำปีป่า ป่าดงดิบเขาเป็นป่าทึบซึ่งเขียวชะอุ่มตลอดปีและติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ เป็นต้นน้ำลำธาร แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สำคัญมาก
 สัตว์ป่า
 การผสมผสานของทุ่งหญ้าและป่าไม้ชนิดต่าง ๆ ตามธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าแห่งนี้ ทำให้มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และที่หลบซ่อนป้องกันภัยแก่สัตว์ป่าอย่างสมบูรณ์ จึงปรากฏมีสัตว์ป่ามากทั้งชนิดและจำนวน โดยเฉพาะสัตว์ป่าสงวน เช่น เลียงผา ควายป่า กระซู่ สมเสร็จนอกจากนั้นยังมีร่องรอยและรายงานการพบเห็นอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ส่วนสัตว์คุ้มครอง อื่น ๆ ที่พบได้แก่ ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวาง เก้ง เสือชนิดต่าง ๆ หมี ค่าง บ่าง ชะนี ลิงลม ลิงต่าง ๆ พญากระรอก ชะมด อีเห็นต่าง ๆ หมีขอ ลิ่น และสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิด รวมทั้งไก่ฟ้าหลังเทา ไก่ฟ้าพญาลอ เป็ดหงษ์ เป็ดก่า นกเงือกชนิดต่าง ๆ นกแก้ว นกพญาไฟ นกขุนทอง นกกระทาดง นกหัวขวานต่าง ๆ เป็นต้น ก็พบมากในป่าแห่งนี้
 สัตว์ป่าที่มีจำนวนมากและพบเห็นบ่อย ๆ ได้แก่ กระทิง ช้างป่า กวาง เก้ง ตาม ทุ่งหญ้าและดินโป่ง ตามทางรถและทางด่านสัตว์ก็จะพบชะมด อีเห็น และรอยเท้าเสือโคร่ง เป็นจำนวนมาก ในบริเวณป่าโปร่งและป่าไผ่ก็จะพบเห็นไก่ป่า ไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง กวาง โดยไม่ยาก ส่วนนกชนิดต่าง ๆ และชะนีจะได้ยินเสียงร้องหรือเห็นตัวในป่าทั่วไป
 จุดเด่นที่น่าสนใจ
 ธรรมชาติที่สวยงามและมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น เป็นที่น่าสนใจและพบเห็นได้เฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ ป่าไม้ส่วนใหญ่ยังสมบูรณ์ประกอบด้วยไม้ชั้นต่าง ๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ตามคบไม้มักจะประดับไปด้วยกล้วยไม้ป่าที่ออกดอกมีมีสรรต่าง ๆ บางต้นเป็นที่เกาะทำรังของผึ้งและมีรวงผึ้งเกาะแขวนอยู่ตามกิ่งไม้เป็นจำนวนมาก บางแห่งเป็นป่าไผ่นานาชนิดที่สมบูรณ์ และมีขนาดใหญ่งดงาม ทุ่งหญ้าและป่าโปร่งซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไปตามเนินเขานั้นบางแห่งก็มีขนาดใหญ่มาก เช่น ทุ่งใหญ่ ทุ่งฤาษี ทุ่งนเรศวร ทุ่งหญ้าเหล่านี้มักจะมีไม้พื้นล่างตระกูลปาล์ม เช่น เป้ง ปรง ขึ้นแซมผสมอยู่กับไม้ยืนต้นทำให้มองดูแปลกกว่าที่อื่น ต้นปรงส่วนใหญ่มีขนาดโต และมีลักษณะงดงามตามธรรมชาติ ตามท้องทุ่งบางแห่งจะมีกล้วยไม้ดินและดอกหญ้า ขึ้นแซมสลับกับสีเขียวของทุ่งหญ้า สัตว์ป่าหลายชนิดได้อาศัยทุ่งหญ้าเหล่านี้เป็นที่หากิน จึงมักจะพบรอยเท้าสัตว์และทางด่านสัตว์เต็มไปหมด โดยเฉพาะตามน้ำซับและดินโป่งซึ่งมีอยู่ทั่วไป โป่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ โป่งซ่งไท้เล็ก โป่งซ่งไท้ใหญ่ โป่งดงวี โป่งตะเลอะเซอะ โป่งบอน โป่งไผ่ และหนองหม่องดง ซึ่งมีนกชุกชุมมาก ลำห้วยหลายแห่งมีความสวยงามตามธรรมชาติที่หาได้ยาก เช่น ลำแควใหญ่ ที่ไหลผ่านทางด้านตะวันออก ห้วยแม่หม่องดง แม่น้ำกษัตริย์ใหญ่ ห้วยเซซะโว่ ห้วยตะเลอะเซอะ ห้วยดงวี ห้วยซ่งไท้ เป็นต้น
 ธรรมชาติที่น่าสนใจเหล่านี้เป็นส่วนที่ได้สำรวจพบแล้วในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีเนื้อที่มากกว่า 2 ล้านไร่นี้ และยังไม่ได้ทำการสำรวจโดยละเอียดอีกหลายบริเวณ จึงคาดว่าจะได้พบสัตว์ป่าและธรรมชาติที่น่าสนใจอีกมากมาย ทางด้านตะวันออกมีทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ซึ่งอุดมด้วยสัตว์ป่า ถ้ำงู ถ้ำกระดูก บึงละกะตู บึงน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของเป็ดก่าซึ่งเป็นนกน้ำประจำถิ่นที่มีประชากรน้อยมากในธรรมชาติ หลักฐานที่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยทิ้งเอาไว้เช่น ครกกังหันน้ำ
 การเดินทาง
 1.ทางด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี
 การคมนาคมไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทางด้านตะวันตกอยู่ในสภาพที่ไม่สะดวก มีเส้นทางรถยนต์ซึ่งเป็นทางรถบรรทุกแร่จากหมู่บ้านกระเหรี่ยงคลิตี้ (ตำบลทุ่งเสือโทน อำเภอทองผาภูมิ) เพียงทางเดียวที่ผ่านที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ห้วยซ่งไท้เข้าสู่ทุ่งใหญ่ ระยะทางจากคลิดี้ถึงที่ทำการเขต ฯ ประมาณ 45 กิโลเมตร การเดินทางในฤดูฝนค่อนข้างลำบากและอันตรายเนื่องจากต้องข้ามภูเขา ลำห้วยหลายสาย
 การเดินทางจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีไปยังหมู่บ้านกระเหรี่ยงคลิดี้ มีทางคมนาคมสะดวกกว่า โดยมีถนนลาดยางไปถึงเขื่อนศรีนครินทร์ระยะทางประมาณ 64 กิโลเมตร และมีถนนลูกรังผ่านอุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ถึงคลิดี้ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร หากจะเดินทางผ่านอำเภอศรีสวัสดิ์ก็มีถนนลาดยางก่อนถึงทางแยกเข้าเขื่อนศรีนครินทร์ ไปยังอำเภอศรีสวัสดิ์ ผ่านอำเภอศรีสวัสดิ์ไปข้ามแพขนานยนต์ที่ท่าแฉลบ เป็นถนนลูกรังไปรวมกับเส้นทางเดิมไปถึงคลิดี้ เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถยนต์ขนส่งแร่จากคลิดี้ไปยังอำเภอสังขละบุรีและอำเภอ ทองผาภูมิโดยตรงได้อีกด้วย แต่เส้นทางไม่สะดวกตลอดปี
 2.ทางด้านตะวันออก จังหวัดตาก
 การเดินทางการเดินทางสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก โดยปกติแล้วจะลำบากมากในฤดูฝน สามารถเดินทางโดยรถโดยสารได้หลายสาย แต่ละสายเดินรถเพียงวันละ 1 เที่ยวเท่านั้น คือ
 รถยนต์โดยสารจากอำเภอแม่สอด-อำเภออุ้มผาง ระยะทาง 169 กิโลเมตร
 รถยนต์โดยสารจากอำเภออุ้มผาง-หมู่บ้านกะแง่คี ระยะทาง 47 กิโลเมตร
 สิ่งอำนวยความสะดวก
 ไม่มี

 

 

 
ที่เที่ยวแนะนำ

-- ดูเพิ่ม --