ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 6,301

เขื่อนแม่กวงอุดมธารา

เขื่อนแม่กวงอุดมธารา

เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นเขื่อนดินถมบดอัดแน่น สูง 68 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร สร้างปิดกั้นลำน้ำแม่กวง นอกจากนั้นยังได้ก่อสร้างเขื่อนดินปิดช่องเขาขาดด้านฝั่งขวาสูง 42 เมตร สันเขื่อนยาว 640 เมตร และ เขื่อนดินปิดช่องเขาขาดด้านฝั่งซ้ายอีกแห่งหนึ่งสูง 54 เมตร สันเขื่อนยาว 655 เมตร สามารถเก็บกักน้ำในอ่างด้านเหนือเขื่อนได้ประมาณ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 186 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก 13 ตำบล ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนประมาณ 175,000 ไร่ 

 เกิดจากแผนพัฒนางานชลประทานในลุ่มน้ำแม่กวง ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2472 โดยได้ก่อสร้างฝายผาแตก ขึ้นที่ดอยลอง บ้านผาแตก เมื่อ พ.ศ. 2478 ต่อมากรมชลประทานได้ปรับปรุงฝายใหม่ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกได้ 72,750 ไร่
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรบริเวณที่จะก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธาราแห่งนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทาน ศึกษาการพัฒนาลำน้ำสาขาของลำน้ำแม่กวง และจัดหาที่ดินทำกินใหม่ให้แก่ราษฎร ซึ่งพื้นที่ทำกินดังกล่าวจะถูกน้ำท่วมหลังการก่อสร้างเขื่อน
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมชลประทานเริ่มงานเบื้องต้น เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 กรมชลประทานจึงได้ขอความช่วยเหลือกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการศึกษาโครงการออกแบบและก่อสร้าง และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมชลประทานก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเมื่อ พ.ศ.2529 งานก่อสร้างตัวเขื่อนและอาคารประกอบจึงได้เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2531 และเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการใน พ.ศ. 2536
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ เขื่อนเก็บกักน้ำโครงการชลประทานแม่กวงให้กับกรมชลประทาน ทรงพระราชทานชื่อ ว่า “ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา” เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

ที่ตั้ง

อยู่ที่อำเภอแม่แตง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติความเป็นมา

เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวของชุมชน ทำให้การใช้ที่ดินในพื้นที่โครงการแม่กวงมีความต้องการใช้น้ำเป็นปริมาณสูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำแม่กวง กรมชลประทานจึงว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนี้ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม  2543 แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 ซึ่งสรุปแนวทางการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมคือ การจัดการน้ำร่วมกันในลุ่มน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง ประกอบด้วย

  • การพัฒนาแนวส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง
  • การพัฒนาแนวส่งน้ำแม่แตง-เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล
  • การพัฒนาโครงการสูบน้ำแม่แฝก-แม่แตง

ระยะเวลาก่อสร้าง

8 ปี (ปี 2551-2558)

งบประมาณทั้งโครงการ

11,341.19 ล้านบาท

ลักษณะโครงการ

การผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่แตงและลุ่มน้ำแม่งัด ได้พิจารณาวางแนวส่งน้ำจากโครงการแม่แตงมาทิ้งลงที่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล และจากอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชลก็จะส่งต่อไปยังโครงการแม่กวง โดยมีปริมาณน้ำส่งจากน้ำแม่แตงไปยังเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เฉลี่ยปีละ 108.48 ล้านลูกบาศก์เมตร  และส่งต่อไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ด้วยปริมาณน้ำส่ง เฉลี่ยปีละ 147.42 ล้านลูกบาศก์เมตร  ทั้งนี้ องค์ประกอบที่สำคัญของโครงการ  คือ  ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน  อุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด  และอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง

เพื่อการชลประทาน เขื่อนแม่กวงอุดมธารา สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานที่เปิดใหม่ได้ 100.250 ไร่ และยังส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการแม่กวงเดิมอีก จำนวน 74,750 ไร่ รวมพื้นที่ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 175,000 ไร่ ในฤดูฝนสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ประมาณ 126,823 ไร่ ส่วนในฤดูแล้งอีกประมาณ 87,500 ไร่

เพื่อบรรเทาอุทกภัย ลำน้ำแม่กวงเป็นลำน้ำสาขาใหญ่สาขาหนึ่งของแม่น้ำปิง ก่อนการก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธารานั้น ในฤดูฝนจะมีน้ำไหลหลากจากลำน้ำแม่กวง ทำให้อุทกภัยทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหายทุกปี เมื่อมีอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธาราแล้วสามารถเก็บกักน้ำที่ไหลหลากจากพื้นที่รับน้ำฝนเหนืออ่างเก็บน้ำ จำนวน 567 ตารางกิโลเมตร ไว้เป็นการป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยให้กับบริเวณดังกล่าวได้อย่างดี

เพื่อการประปาและอุปโภค-บริโภค เขื่อนแม่กวงอุดธารา เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค-บริโภค สามารถส่งน้ำให้แก่การประปาสุขาภิบาล ในเขต อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ปีละ 1,500,000 ลูกบาศก์เมตร และส่งน้ำให้โรงงานอุตสาหกรรมของนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดลำพูน อีกประมาณ 3,000,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

เพื่อการประมง อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนแม่กวงอุดมธาราซึ่งมีสภาพเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ใช้เป็นแหล่งเพาะและบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำจึงเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของ จังหวัดชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง โครงการชลประทานแม่กวง ได้ขอพันธุ์ปลาน้ำจืดมาปล่อยในอ่างเก็บน้ำตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ปลาที่นำมาปล่อยนี้นอกจากจะเป็นอาหารที่มีคุณค่าสำหรับชาวบ้านในท้องถิ่นแล้วยังได้ทำการประมงเป็นอาชีพเสริม

เพื่อการท่องเที่ยว  สภาพภูมิประเทศบริเวณอ่างเก็บน้ำสวยงามมาก ด้วยตัวเขื่อนขนาดใหญ่ที่ปิดกั้นหุบเขาสูงมีอ่างเก็บน้ำเสมือนทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่โอบล้อมด้วยทิวเขาและป่าเขียวขจี ในยามเช้าจะมีเมฆหมอกสีขาวคล้ายปุยฝ้ายลอยตัวปกคลุมทั่วท้องน้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของคนในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง

ที่เที่ยวแนะนำ

-- ดูเพิ่ม --