วัดบูรพาราม ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี
แต่เดิมที่ตั้งของวัดบูรพานั้น เป็นหมู่บ้านแสนตอ หมู่ที่ 6 ตำบลปทุม
อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ.2525
ทางเทศบาลได้ขยายเขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี
วัดบูรพาจึงอยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี
ตามประวัติวัดบูรพา ไม่มีท่านผู้ใดเขียนไว้ชัดเจน
จึงได้อาศัยแต่คำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น ซึ่งท่านก็เล่าว่า
แต่เดิมนั้นที่ดินตรงนี้เป็นป่าไม้โสงเสง (ภาษาอีสาน)
ซึ่งหมายถึงป่าโปร่ง เป็นที่อยู่ของสัตว์หลายชนิด ผู้คนไม่ค่อยเข้าไป
จึงเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม หลวงปู่ทาสี หลวงปู่เสาร์ ได้ไปปฏิบัติธรรม
ขณะนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์
ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2458 หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทราบข่าว
จึงได้เดินทางมาจาก วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์
และปฎิบัติธรรมอยู่ที่วัดบูรพา และเมื่อเจ้ากรมหลวงสรรรพสิทธิประสงค์
ได้บริจาคทรัพย์และที่ดิน ให้สร้างวัดบูรพา
จึงเป็นต้นกำเนิดสายวิปัฏนากรรมฐาน พระเกจิอาจารย์ต่างๆ
ทั่วประเทศได้มาปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดบูรพา
ศาลาการเปรียญ หลังเดิมนั้น สร้างขึ้นใน พ.ศ.2458 ซึ่งแต่เดิมนั้น
บริเวณที่สร้างศาลาการเปรียญนี้ ได้เคยเป็นสถานที่สร้างเมรุ
เผาศพหลวงปู่เสาร์ ซึ่งเมื่อเผาศพเสร็จแล้ว
จึงได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นแทน แต่ต่อมาได้เกิดไฟไหม้
หลวงพ่อพระครูอมรสิทธิ์ จึงได้สร้างวิหารหลังใหญ่ขึ้น
(ปัจจุบันยังก่อสร้างไม่เสร็จ )
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำรูปเหมือนของหลวงปู่ ทั้ง 5 คือ
พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน,พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล,พระอาจารย์มั่น
ภูริทัตโต,พระญานวิศิษย์สิงห์ ขันตญาคโม
และพระสิทธิธรรมรังษีคัมภีร์เมธาจารย์(สี ธัมมธโร)
หอไตรวัดบูรพา เป็นหอพัก คือสร้างอยู่บนพื้นดินอาคารเรือนไม้
สองหลังเคียงกัน แต่ละหลังเป็นเรือนแบบ 3 ห้อง
เสากลมยกพื้นสูงมีชานเชื่อมอาคารทั้งสอง(ปัจจุบันชานได้หักพักลงมาหมดแล้ว)
อาคารหลังทางทิศใต้ฝีมือปราณีตมาก ฝาแบบก้างปลา
ไม้พรึงแกะสลักลวดลายกระจังกลีบบัวรอบอาคาร
และไม้ลายเท้าสิงห์รองรับกรอบหน้าต่าง หลังคาทรงจั่วมุงแป้นไม้
หน้าบันกรุไม้รูปพระอาทิตย์ เชิงชายมีไม้ฉลุลายโดยรอบ
ไม่ปรากฎว่าปั้นลมมีลักษณะอย่างใด เนื่องจากอาคารหอไตรทั้ง 2
หลังชำรุดทรุดโทรมมาก แต่ยังมองเห็นลักษณะโครงสร้างได้อย่างชัดเจน
อาคารหลังทางทิศเหนือ ฝีมือการก่อสร้างหยาบกว่าทิศใต้
โดยเฉพาะลายผนังและการตกแต่งกรอบหน้าต่าง |