วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
ชาวบ้านส่วนใหญ่มักเรียกขานกันว่า วัดใหญ่
หรือวัดพระศรี กันจนติดปาก แม้นพระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหารคือ
พระพุทธชินราช ชาวเมืองพิษณุโลกก็นิยมเรียกกันว่า หลวงพ่อใหญ่
ตามไปด้วย วัดใหญ่นับเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัด
เพราะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเมืองและชาวไทยทั้งประเทศ
ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก
สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเมื่อปี พ.ศ. 1900
ภายในวัดสิ่งโบราณสถานโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย อาทิ
พระพุทธชินราช
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง
5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก
ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ
เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง
พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคุลี
ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักสร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปมกร
(ลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และตัวเหรา
(คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลาง และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์
พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย
โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา
ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวรารามและวัดบวรนิเวศวิหารตามลำดับ
บานประตูประดับมุก
ที่ทางเข้าพระวิหารด้านหน้า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2299
เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ
ตรงกลางประตูมีสันอกเลาประดับลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์
สองข้างเป็นลายกนกก้านแย่ง ช่วงกลางอกเลามีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
เรียกว่า นมอกเลา เป็นรูปบุษบก
มีรูปพระอุณาโลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ประดิษฐานบนบัลลังก์อยู่ในบุษบก
สองข้างเป็นรูปชุมสายซึ่งเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง เป็นรูปฉัตรสามชั้น
ใต้ฐานบุษบกมีหนุมานแบกฐานไว้
ส่วนเชิงล่างของอกเลาทำเป็นรูปกุมภัณฑ์ยืนถือกระบองท่าสำแดงฤทธิ์
ส่วนลวดลายบานประตูเป็นลายกนกที่มีภาพสัตว์หิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์
เหมราช ครุฑ กินรีรำ และภาพสัตว์อื่น ๆ และยังมีลาย อีแปะ ด้านละ
9 วงมัดนกหูช้างประกอบช่องไฟระหว่างวงกลม หรือวงกลมเป็นลายกรุยเชิง
มีลายประจำยามก้ามปูประดับขอบรอบบานประตู
เดิมบานประตูวิหารพระพุทธชินราชทำด้วยไม้สักแกะสลัก
เมื่อทำบานประตูประดับมุกเสร็จแล้ว
บานประตูเก่าได้นำไปประดับประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์
พระเหลือ
พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช
พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา
มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก เรียกว่า พระเหลือ
และพระสาวกยืนอีก 2 องค์
ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองได้นำมารวมกันบนฐานชุกชี
พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า
ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นหนึ่งหลัง
อัญเชิญพระเหลือกับพระสาวกไปประดิษฐาน เรียกว่า วิหารพระเหลือ
พระอัฏฐารส
เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติด้านหลังพระวิหาร สูง 18 ศอก
สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ.ศ. 1811
เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด
เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า
เนินวิหารเก้าห้อง
พระปรางค์ประธาน
ศิลปสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ
เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัยแท้
ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา
วิหารแกลบ
พระเจ้าเข้านิพพาน
เป็นโบราณวัตถุสมัยอยุธยา นับว่าเป็นชิ้นสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาวรวิหาร
ถือว่าเป็นการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า
คาดว่ามีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพ
ทำด้วยศิลาตั้งอยู่บนจิตราการ ประดับด้วยลวดลายลงรักปิดร่องกระจกสวยงาม
ที่ปลายหีบมีพระบาททั้งสองยื่นออกมา และบริเวณด้านหน้า หรือด้านท้าย
หีบพระบรมศพ มีพระมหากัสสปะเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เปิดทุกวัน เวลา 6.30-18.00 น.
ส่วนพิพิธภัณฑ์ในวัดเปิดเวลา 8.30-16.30 น. |