แก้ไข

เทศกาลประเพณี, ชลบุรี

งานประจำจังหวัดชลบุรี

เป็นงานประจำปีที่ชาวจังหวัดชลบุรี ได้ร่วมกันจัดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 กิจกรรมของงานได้รวมงาน "นมัสการพระพุทธสิหิงค์ งานสงกรานต์ และงาน กาชาด" ไว้ด้วยกันโดยถือเอาประมาณกลางเดือนเมษายนของทุกปีเป็นวันจัดงานกิจกรรมของงานประกอบไปด้วยขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ พิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงโขนของกรมศิลปากร และการแสดงทางวัฒนธรรม นิทรรศการ และ การออกร้าน ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริม และ รักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ตลอดจนปลูกฝังคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมไว้สืบไป

........................................................ 

งานเทศกาลวันไหล

พอถึงเดือนเมษายน อากาศในเมืองไทยก็ยิ่งร้อนขึ้น แต่คนโบราณนั้นเข้าใจคิดประเพณีสงกรานต์ไว้คลายร้อน และถือเป็นวันปีใหม่ของไทย ประเพณีสงกรานต์ในภาคกลาง มักจะเล่นกันระหว่างวันที่ 13-14-15 ของเดือนเมษายน ส่วนในภาคตะวันออกนั้นจะแตกต่างจากที่อื่นคือ จะเริ่มเล่นสาดน้ำกันประมาณวันที่ 16 หรือ 17-18-19 เมษายน โดยเรียกกันว่า "วันไหล"
สำหรับเมืองพัทยา ได้กำหนดจัดงานวันไหลในวันที่ 19 เมษายน ของทุกปี โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น พิธีรดน้ำดำหัว ขบวนแห่วันไหล การสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานของประชาชน และ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ เป็นต้น 

........................................................ 

งานเทศกาลพัทยา

จัดขึ้นประมาณกลางเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และ เผยแพร่ชื่อเสียงของเมืองพัทยา มีการจัดขบวนแห่ที่ประดับด้วยดอกไม้ที่สวยงาม การประกวดนางงามพัทยา การแข่งขันกีฬาพื้นบ้านไทย แข่งขันกีฬาทางน้ำ การประกวดก่อปราสาททราย การจุดพลุ และดอกไม้ไฟที่ริมทะเล การแสดงศิลปวัฒนธรรมนิทรรศการและการจำหน่ายสินค้าที่ระลึก 

........................................................

งานประเพณีกองข้าว

อำเภอศรีราชา เป็นประเพณีอันเก่าแก่ของชาวเมืองชลบุรี ปัจจุบันมีที่อำเภอศรีราชา ที่ยังคงรักษาประเพณีนี้อยู่ โดยจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ 19-21 เดือน เมษายน ของทุกปี สถานที่จัดอยู่บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลศรีราชา และที่บริเวณเกาะลอยศรีราชากิจกรรมของงานจะ ประกอบไปด้วยการจัดขบวนแห่ที่นำโดยกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่และหน่วยงานต่าง ๆ ที่แต่งกายด้วยชุดไทยประจำบ้านเข้าร่วมขบวน พิธีบวงสรวงและเซ่นสังเวยผี การสาธิต ประเพณีกองข้าว การละเล่นพื้นบ้านการสาธิตและจำหน่ายขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง เป็นต้น 

........................................................

งานประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน

เป็นงานประเพณีที่ชาวตำบลแสนสุข ได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมเรียกว่า งานทำบุญวันไหล คือ การที่ประชุมในหมู่บ้านต่างๆ ได้มาทำบุญร่วมกันเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ของไทย โดยการนิมนต์พระทุกวัดที่อยู่ในเขตตำบลแสนสุขมาประกอบพิธีสงฆ์ มีการทำบุญ ตักบาตรสรงน้ำ หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรมก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำ การละเล่น และกีฬาพื้นบ้าน เป็นต้น

........................................................

งานบุญกลางบ้านและเครื่องจักสานพนัสนิคม

งานบุญกลางบ้านและเครื่องจักสานพนัสนิคม เป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวอำเภอพนัสนิคม ซึ่งจะจัดขึ้นในราวเดือน 3-6 (ไทย) โดยผู้เฒ่าหรือชาวบ้านที่เป็นที่นับถือจะเป็นผู้กำหนดวันทำบุญและทำพิธีสะเดาะเคราะห์ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวบ้าน หลังพิธี สงฆ์จะมีการรับประทานอาหารร่วมกันและมีการละเล่นพื้นบ้าน

........................................................

งานประเพณีวิ่งควาย

เป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรี จัดขึ้นเดือนตุลาคมของทุกปี นอกจากที่จัดที่อำเภอชลบุรีแล้วยังมีการจัดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในอำเภอบ้านบึง อำเภอหนองใหญ่ ในวันงานชาวไร่ ชาวนาจะตกแต่งควายของตนอย่างสวยงามด้วยผ้าแพรสีต่างๆ และนำควายมาชุมนุมกันที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด มีการแข่งขันวิ่งควาย ประกวดสุขภาพควาย ประกวดการตกแต่งควาย ประกวดนางงาม "น้องนางบ้านนา" เป็นต้น

........................................................  
ที่พักแนะนำ

-- ดูเพิ่ม --